การพัฒนาแบบประเมินความปวดในผู้สูงอายุโรคมะเร็ง ศูนย์แพทย์ชุมชน โรงพยาบาลหนองบัวลำภู

ผู้แต่ง

  • สุธีรา จันทร์ชมภู ศูนย์แพทย์ชุมชน โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู

คำสำคัญ:

การประเมินความปวด, ผู้สูงอายุ, โรคมะเร็ง, ในชุมชน

บทคัดย่อ

ศูนย์แพทย์ชุมชน โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีผู้สูงอายุซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งในพื้นที่รับผิดชอบจำนวนมากถึง 50 คน จากจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงทั้งหมด 95 คน ซึ่งส่วนใหญ่มักเข้าสู่ระยะลุกลามและได้รับการส่งกลับมารักษาต่อที่บ้าน ปัญหาของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ ได้รับการประเมิน และจัดการความปวดที่ไม่เหมาะสม และไม่ตรงกับชนิดของความปวด ซึ่งจากการทบทวนและวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ พบว่ามีสาเหตุหลักๆ สองด้าน คือ (1) ด้านบุคลากร พบว่าการประเมินความปวดยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน วิธีการประเมินความปวดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความรู้ที่ได้จากการศึกษาหรือจากการอบรมของพยาบาลแต่ละคน ส่งผลให้การบริหารยาแก้ปวด ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (2) ด้านผู้สูงอายุ มีความเสื่อมของอวัยวะที่เกี่ยวกับการสื่อสาร เช่น ตามองเห็นไม่ชัดเจน หูฟังไม่ชัด ทำให้การรายงานความปวดบกพร่อง ส่งผลให้ไม่ได้รับการประเมินและการจัดการความปวดที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ การประเมินความปวดในผู้สูงอายุโรคมะเร็ง ต้องครอบคลุมทุกมิติ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและชนิดของความปวด ทำให้สามารถจัดการกับความปวดได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งโรคมะเร็งในผู้สูงอายุ อาการต่างๆจะปรากฏเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะความปวดจากโรคมะเร็งมักจะรุนแรงกว่าผู้ป่วยวัยอื่น อันเป็นผลจากกระบวนการชราภาพ ผู้ศึกษาจึงได้พัฒนาแบบประเมินความปวดในผู้สูงอายุโรคมะเร็ง ศูนย์แพทย์ชุมชน โรงพยาบาลหนองบัวลำภู โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้มีความเฉพาะเจาะจงใน ผู้สูงอายุโรคมะเร็ง ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิเคราะห์สังเคราะห์และสกัดหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการประเมินความปวดสำหรับผู้สูงอายุโรคมะเร็งในชุมชน ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ นำไปทดลองใช้และสรุปผล ประชากรการวิจัยเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ ผู้สูงอายุโรคมะเร็งในพื้นที่รับผิดชอบ ตำบลหนองบัว จำนวน 50 คน วิธีการศึกษาโดยสืบค้นและสกัด สังเคราะห์ หลักฐานเชิงประจักษ์จำนวน 10 ฉบับและนำมาร่างเป็นแบบประเมิน ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ทดลองใช้แบบประเมินความปวดในผู้สูงอายุโรคมะเร็งในชุมชน และตรวจสอบผลการใช้แบบประเมินและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ผลการศึกษา เกิดการพัฒนาแบบประเมินความปวดในผู้สูงอายุโรคมะเร็งในชุมชนโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้สูงอายุโรคมะเร็งในชุมชน โดยประกอบด้วย 3 ส่วนคือ (1) การซักประวัติเกี่ยวกับความปวด (2) วิธีการประเมินความปวดในผู้สูงอายุ (3) การประเมินความปวดในผู้สูงอายุโรคมะเร็งอย่างครอบคลุม สรุปผลการศึกษา หลังจากที่ได้นำแบบประเมินที่ได้พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ พบว่า (1) ด้านผู้สูงอายุ พบว่า ได้รับการประเมินความปวดและบริหารยาที่เหมาะสมกับความปวดที่เป็นอยู่ขณะนั้น ร้อยละ 90.0 (2) ด้านบุคลากร นักสุขภาพครอบครัวมีความพึงพอใจต่อการใช้แบบประเมิน ร้อยละ 96.0

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ