การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในการพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอย เทศบาลตำบลอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • ศรัณรัตน์ ศิลปักษา โรงพยาบาลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ผ่องพรรณ มุริกานนท์ กองสาธารณสุขและสิ่ งแวดล้อม เทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด

คำสำคัญ:

ขยะมูลฝอย, การมีส่วนร่วม, ภาคีเครือข่าย

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย ศึกษาในประชากรเขตเทศบาลตำบลอาจสามารถทั้ง 5 หมู่บ้าน 1,236 หลังคาเรือนการวิจัยระยะที่ 1 ศึกษาบริบทและสถานการณ์ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน ระยะที่ 2 คืนข้อมูลแก่ชุมชนและภาคีเครือข่าย จัดทำแผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหา และดำเนินการตามแผน และระยะที่ 3 ติดตามประเมินผล เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เจาะลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาและสถิติเชิงพรรณนา ดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม 2558 – เมษายน 2560 ผลการวิจัยพบว่า ขยะในเขตเทศบาลฯ มีประมาณวันละ 5 ตัน มีพนักงานจัดเก็บขยะ 8 คน รถขยะ 2 คันและออกจัดเก็บขยะทุกวัน ซึ่งขยะทิ้งลงถังไม่มีการคัดแยกก่อนทิ้ง ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ถูกนำไปกำจัดที่บ่อขยะมากจนล้นหลุมฝังกลบ ต้องมีการกำจัดโดยการเผา ซึ่งทำให้ควันและฝุ่นละอองจากการเผาขยะส่งกลิ่นรบกวนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง และมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการขยะ หลังการคืนข้อมูล ชุมชนและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาโดยดำเนินโครงการธนาคารขยะและขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 5 หมู่บ้าน ทำน้ำหมักชีวภาพ มีนโยบายหมู่บ้านปลอดขยะ มีการประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ โครงการจัดการขยะอันตรายในชุมชนทั้ง 5 หมู่บ้าน จากการประเมินผลพบว่า การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือประชาชนทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง มีการดำเนินงานธนาคารขยะอย่างต่อเนื่อง รายได้จากการขายขยะนำมาจัดสวัสดิการแก่คนในชุมชน ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น หมู่บ้านเป็นแหล่งศึกษาดูงานการจัดการขยะ ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับมาก เทศบาลฯ ได้รับการรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม (EHA) ด้านการจัดการมูลฝอยทั่วไป สรุปและข้อเสนอแนะ ประชาชนมีความตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชนและต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ส่งผลให้ การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและยั่งยืน

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-06-29

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ