ความเป็นพิษและประสิทธิผลของน้ำมันหอมระเหย ในการไล่มอดแป้งที่เป็นพาหะของจุลินทรีย์ก่อโรคในคน
คำสำคัญ:
ความเป็นพิษ, ประสิทธิผล, การไล่, มอดแป้ง, น้ำมันหอมระเหย, สมุนไพรไทย, เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบทคัดย่อ
มอดแป้งเป็นแมลงศัตรูผลิตผลทางการเกษตรและส่งผลให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตรและมีรายงานการตรวจพบจุลินทรีย์ที่จะเป็นพาหะก่อโรคในคนจากมอดแป้ง เช่น Staphylococcus aureus, Psudomonas aeruginosa, Bacillus cereus, Escherichia coli, Enterobacter spp., Aspergillus flavus, Aspergillus niger, Asper-gillus fumigatus, Penicillium spp., Fusarium spp. และ Rhizopus oryzae นอกจากนี้ยังตรวจพบจุลินทรีย์ที่เป็นพาหะที่ไม่ก่อโรค เช่น Bacillus subtilis เป็นต้น การใช้สารรมในการควบคุมมอดแป้ง ส่งผลให้เกิดการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศได้ นอกจากนี้การใช้สารเคมีในการกำจัดมอดแป้ง อาจส่งผลเสียและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ หรืออาจก่อให้เกิดการดื้อต่อสารเคมีของมอดแป้งและอาจมีการตกค้างทำให้เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาทดแทนการใช้สารเคมี เนื่องจากมีความเป็นพิษต่ำต่อมนุษย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของน้ำมันหอมระเหย 13 ชนิด (อบเชยจีน โหระพา ขมิ้นชัน ตะไคร้ต้น ตะไคร้บ้าน ใบฝรั่ง เปปเปอร์มินต์ ตะไคร้หอม สน ส้ม ส้มเขียวหวาน มะกรูด และกระชาย) ในการไล่มอดแป้งในระดับห้องปฏิบัติการ โดยการทดสอบฤทธิ์สัมผัสตายด้วยวิธี impregnated filter paper discs test ความเข้มข้นที่ใช้คือ 1, 3, 5, 7, 9, 11 และ 13% (v/v) และโดยการทดสอบฤทธิ์ไล่ด้วยวิธี area preference method ความเข้มข้นที่ใช้คือ 0.5, 1, 2, 3 และ 4% (v/v) รายงานผลทดสอบฤทธิ์สัมผัสตายเป็นค่า LC50 และรายงานเป็นค่าเฉลี่ยของอัตราการไล่ซึ่งแสดงค่าในรูปร้อยละและวิเคราะห์ผลทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% โดยใช้ one-way ANOVA จากการศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยอบเชยจีน โหระพา ขมิ้นชัน ตะไคร้ต้น ตะไคร้บ้าน ใบฝรั่ง เปปเปอร์มินต์ ตะไคร้หอม สน ส้ม ส้มเขียวหวาน มะกรูด และกระชาย มีค่าความเป็นพิษที่ทำให้มอดแป้งตาย 50% (LC50) หลังสัมผัสสารเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง เท่ากับร้อยละ 3.80±0.10 ถึง 11.00±0.06 กล่าวคือ ค่าความเป็นพิษต่อมอดแป้งของน้ำมันหอมระเหยอบเชยจีน มีความแตกต่างจากน้ำมันหอมระเหยทั้ง 12 ชนิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% (p<0.05) การทดสอบประสิทธิผลการไล่มอดแป้ง พบว่า น้ำมันหอมระเหยทั้ง 13 ชนิด ที่ระดับความเข้มข้นที่ 4% มีประสิทธิผลการไล่อยู่ในช่วงร้อยละ 61.50±0.25 - 92.00±1.15 (เกณฑ์ระดับ IV-V) ที่ระดับความเข้มข้น 2% พบว่า น้ำมันหอมระเหยอบเชยจีนมีประสิทธิผลในการไล่มอดแป้งสูงที่สุด คือร้อยละ 79.00±2.08 (เกณฑ์ระดับ IV) รองลงมาคือ น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม มีประสิทธิผลในการไล่มอดแป้ง เท่ากับร้อยละ 56.50±0.25 (เกณฑ์ระดับ III) และน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ต้น มีประสิทธิผลในการไล่มอดแป้ง เท่ากับร้อยละ 42.00±1.00 (เกณฑ์ระดับ III) จากการศึกษาครั้งนี้สรุปว่าน้ำมันหอมระเหยอบเชยจีนจึงมีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาใช้ในการควบคุมและใช้ในการไล่มอดแป้ง ซึ่งเป็นแมลงศัตรูผลผลิตทางการเกษตรในโรงเก็บและทำการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีและสารออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิผลต่อไป
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.