การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
คำสำคัญ:
รูปแบบการดูแลผู้ป่วย, โรคเบาหวาน, พฤติกรรมการดูแลตนเองบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง(quasi-experimental research) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแล ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความพึงพอใจต่อรูปแบบการดูแล ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้พัฒนาขึ้น โดยออกแบบการวิจัยแบบ 2 กลุ่มเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง (be-fore-after two group pretest-posttest design) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการพัฒนารูปแบบเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ไม่มีโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานและยินยอมที่จะร่วมมือในการวิจัย จำนวน 80 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มไม่ใช้รูปแบบ และกลุ่มที่ใช้รูปแบบ กลุ่มละ 40 คน ทั้งนี้ รูปแบบการดูแลที่พัฒนาขึ้น คือ การตรวจรักษาโดยแพทย์ แล้วให้ความรู้ ประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเอง ให้คำแนะนำในการปฏิบัติในการดูแลตนเอง และมีการติดตามทางโทรศัพท์โดยเจ้าหน้าที่ หลังจากการมารักษาแต่ละครั้งในช่วง 2 เดือนแรก หากพบว่าในเดือนที่ 3 ผู้ป่วยยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็จะส่งพบแพทย์เพื่อพิจารณาปรับยาให้เหมาะสม และทำการเยี่ยมบ้าน เพื่อหาสาเหตุและส่งเสริมให้ญาติช่วยดูแล ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช้รูปแบบจะใช้การดูแลแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ คือ ให้การตรวจรักษา แล้วให้คำแนะนำต่างๆ ตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย ให้ยาไปรับประทาน และการนัดหมายให้มาตรวจตามนัด ดำเนินการศึกษาในเดือนสิงหาคม–ธันวาคม 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน แบบสอบถาม แบบบันทึกข้อมูลการรักษาพยาบาล แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลัง แบบสอบถามความพึงพอใจ และแบบบันทึกระดับน้ำตาลในเลือด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา Chi-square test, independent t-test และ paired sample t-test ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มที่ใช้รูปแบบ หลังการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน พฤติกรรมการดูแลตนเอง มากกว่าก่อนการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้พัฒนาขึ้น และระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.001) และเมื่อเปรียบเทียบการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ระหว่างกลุ่มที่ใช้รูปแบบดังกล่าว กับกลุ่มที่ไม่ใช้รูปแบบ หลังการทดลองพบว่า กลุ่มที่ใช้รูปแบบมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน พฤติกรรมการดูแลตนเองมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้รูปแบบ และระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ทั้งนี้ ผู้ใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยรวมมีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบในระดับมาก ถึงร้อยละ 97.5 ซึ่งรูปแบบที่ได้พัฒนาขึ้นนั้นมีประสิทธิผลที่ดี ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปปฏิบัติของสถานบริการสุขภาพระดับต่างๆ ได้ จึงควรนำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวมาใช้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.