พฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบุคลากรคลินิกสถานบริการจังหวัดราชบุรี

ผู้แต่ง

  • ไพรัช มโนสารโสภณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ, คลินิกสถานบริการ, ความรู้เกี่ยวกับมูลฝอยติดเชื้อ, ความตระหนักรู้ถึงผลของการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ความรู้เกี่ยวกับมูลฝอยติดเชื้อ ความตระหนักรู้ถึงผลของการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบุคลากรคลินิกสถานบริการจังหวัดราชบุรี การเปรียบเทียบพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบุคลากรคลินิกสถานบริการจังหวัดราชบุรี จำแนกตามเพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ ประสบการณ์การปฏิบัติงาน ระยะเวลาการประกอบการ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความรู้เกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ความตระหนักรู้ถึงผลของการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และปัจจัยที่ทำนายพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบุคลากรคลินิกสถานบริการจังหวัดราชบุรี เป็นการศึกษาทั้งประชากร จำนวน 291 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้สถิติเปรียบเทียบ t-test วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวด้วยสถิติ oneway ANOVA วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสถิติสหสัมพันธ์ของ Pearson และวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำนายพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบุคลากรคลินิกสถานบริการด้วยสถิติ stepwise multiple regression analysis ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรคลินิกสถานบริการจังหวัดราชบุรีเป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.5 อายุ 40-49 ปี ร้อยละ 27.8 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 68.0 ระดับการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 61.5 อาชีพรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 49.8 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001 บาทขึ้นไปร้อยละ 48.8 ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน 21 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.8 มีพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้ออยู่ในระดับมาก ความรู้เกี่ยวกับการจัดการมูลฝอย ติดเชื้ออยู่ในระดับปานกลาง และความตระหนักรู้ถึงผลของการจัดการมูลฝอยติดเชื้ออยู่ในระดับมาก บุคลากรคลินิกสถานบริการที่มี เพศ อายุ ที่แตกต่างกันมีพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ไม่พบความแตกต่างของตัวแปรอื่น ด้านสถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ ประสบการณ์การปฏิบัติงาน ระยะเวลาประกอบการของคลินิกสถานบริการ และพบว่าความตระหนักรู้ถึงผลของการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ความรู้เกี่ยวกับมูลฝอยติดเชื้อ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และสามารถทำนายพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบุคลากรคลินิกสถานบริการจังหวัดราชบุรีได้ร้อยละ 21.6 โดยสมการที่ได้จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะควรสนับสนุนให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางสื่อสารต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก สำนึกรับผิดชอบ ตลอดจนการกำหนดมาตรการ นโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับ ดูแล คลินิกสถานบริการให้มีการจัดการมูลฝอยติดเชื้อตามเกณฑ์มาตรฐาน

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-08-15

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ