แบบจำลองเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจประเมินความคุ้มค่าในประชากรกลุ่มที่พักอาศัย ในสถานดูแลผู้สูงอายุ

ผู้แต่ง

  • พรชัย ประเสริฐวชิรากุล กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลปัตตานี

คำสำคัญ:

ประชากรผู้สูงอายุ, ประชากรที่พักอาศัยในสถานดูแลผู้สูงอายุ, แบบจำลองเชิงเศรษฐศําสตร์เพื่อช่วยตัดสินใจ, ความคุ้มค่า

บทคัดย่อ

ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปัญหาประชากรผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่พักอาศัยในสถานดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีสุขภาพเปราะบางกว่าผู้สูงอายุกลุ่มปกติ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดสรรทรัพยากรทางด้านสุขภาพให้แก่ประชากรกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานความคุ้มค่าจากแบบจำลองเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจประเมินความคุ้มค่า การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักฐานความคุ้มค่าของทางเลือกของการดูแลสุขภาพต่างๆ จากงานวิจัยประเภทแบบจำลองเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจประเมินความคุ้มค่าในประชากรกลุ่มที่พักอาศัยในสถานดูแลผู้สูงอายุที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว และประเมินคุณภาพแบบจำลองในงานวิจัยแต่ละการศึกษาที่นำมาใช้อ้างอิงโดยใช้เครื่องมือ Philips check-list ดำเนินการศึกษาโดยใช้การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ประเภทแบบจำลอง (model-based economic evaluation) ทุกเรื่องที่ทำการศึกษาความคุ้มค่าของทางเลือกในการดูแลสุขภาพต่างๆ ในประชากรกลุ่มที่พักอาศัยในสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่มกราคม ค.ศ.2000 – มิถุนายน ค.ศ.2016 จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ MEDLINE และ EMBASE ผลการศึกษาพบว่า มีงานวิจัยที่ถูกสืบค้นทั้งสิ้น 1,559 การศึกษา มีงานวิจัยซึ่งเข้าเกณฑ์การคัดเลือกและถูกนำมาทบทวนอย่างละเอียดทั้งสิ้น 15 การศึกษา เกี่ยวข้องกับลักษณะทางคลินิก 4 หัวข้อ ได้แก่ (1) การป้องกันกระดูกหักจากการหกล้ม (2) การป้องกันการเกิดแผลกดทับ (3) การป้องกัน/รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ และ (4) การคัดกรองวัณโรค มีทางเลือกในการดูแลสุขภาพเพียง 5 รายการเท่านั้นที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนอย่างเพียงพอและมีศักยภาพสำหรับการขยายผลนำไปใช้จริงให้แพร่หลายมากขึ้น ในส่วนของการประเมินคุณภาพงานวิจัย การศึกษาส่วนใหญ่ยังพบปัญหาทางระเบียบวิธีวิจัยในหลายประเด็นทั้งในส่วนของโครงสร้าง ข้อมูล และความมั่นคงของแบบจำลอง จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่มีความคุ้มค่าทั้ง 5 รายการนั้นมีการใช้ในเวชปฏิบัติประเทศไทยอย่างแพร่หลายเกือบทุกรายการ ยกเว้นก็เพียงแต่อุปกรณ์ป้องกันกระดูกสะโพกหัก (hip protectors) ซึ่งยังมีใช้น้อยมากในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนเรื่องความคุ้มค่าของอุปกรณ์ตัวนี้ไปในแนวทางเดียวกันอย่างชัดเจนในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะนำอุปกรณ์ตัวนี้ไปศึกษาพัฒนา ต่อไปในอนาคตทั้งในเชิงการวิจัยต่อยอดและการทดลองใช้จริงในเวชปฏิบัติ

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-08-30

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ