การพัฒนาโมเดลการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เครือข่ายสุขภาพ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ผู้แต่ง

  • สุกัญญา วิริยโกศล กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
  • รุ่งกิจ ชัยธีรกิจ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
  • ปิยะ เล็บขาว กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

คำสำคัญ:

คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง, การพัฒนาระบบคัดกรองมะเร็งลำไส้

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสุขภาพ อำเภอกระทุ่มแบน เพื่อให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เข้าร่วมโครงการคัดกรองครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรและมีอัตราการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด ทั้งการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระและการเข้าร่วมการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และเพิ่มอัตราการตรวจพบมะเร็งระยะแรก โดยการคัดกรองทีมงานใช้การปฏิบัติการในเชิงรุกเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยทุกกลุ่ม ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติใหม่ โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลงพื้นที่ค้นหาญาติสายตรงของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ติดตามเรื่องการส่งตรวจเลือดแฝงในอุจจาระโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ คัดกรองพระภิกษุสงฆ์มาตรวจที่โรงพยาบาล ทำหนังสือถึงหน่วยราชการครู ตำรวจและทหาร ผู้ป่วยที่คลินิกโรคเรื้อรัง (NCD clinic) ที่อายุ 50-75 ปี ให้ส่งตรวจเลือดแฝงในอุจจาระทุกราย คัดกรองกลุ่มเสี่ยงในโรงงานอุตสาหกรรม จัดตั้งคลินิกพิเศษสำหรับคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงโดยเฉพาะ แยกจากคลินิกศัลยกรรมทั่วไป จัดทำช่องทางพิเศษเพื่อให้ผู้ป่วยได้พบศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์เพื่อเข้าคิวส่องกล้องได้ภายใน 14 วันหลังพบแพทย์ จัดทำส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในวันเสาร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่ไม่สะดวกมาส่องกล้องในวันราชการ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการและครอบครัว ดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม 2559 – เมษายน 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า ในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจำนวน 2,753 ราย ได้รับการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระจำนวน 2,731 ราย (ร้อยละ 98.2) ของผู้ที่มาคัดกรองทั้งหมด มีผู้เข้าร่วมส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนักทั้งกลุ่มเสี่ยงทั่วไปแล้วมีเลือดแฝงในอุจจาระเป็นบวก และกลุ่มเสี่ยงสูงแม้มีเลือดแฝงในอุจจาระเป็นลบ จำนวน 597 ราย พบมีผลตรวจผิดปกติจำนวน 242 ราย (ร้อยละ 40.5) ของผู้ที่มาส่องกล้องทั้งหมด พบเป็นติ่งเนื้อก่อมะเร็งจำนวน 100 ราย (ร้อยละ 41.3 เป็นมะเร็งจำนวน 45 ราย (ร้อยละ 18.5) ของผลตรวจที่ผิดปกติทั้งหมด พบผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกทั้งหมดจำนวน 31 ราย (ร้อยละ 68.9) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.9 มะเร็งระยะ 3 และ 4 จำนวน 14 ราย (ร้อยละ 31.1 ลดลงจากร้อยละ 57.1 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558)

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-10-31

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ