การศึกษาความไวของลูกน้ำยุงลายต่อสาร temephos ในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ปี 2558

ผู้แต่ง

  • นิธิพัฒน์ มีโภคสม กลุ่มปฏิบัติการควบคุมโรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก

คำสำคัญ:

ความไวต่อสารเคมีกำจัดแมลง, สาร temephos, ยุงลายบ้าน

บทคัดย่อ

การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับมาตรการกำจัดลูกน้ำยุงลายบ้าน พาหะหลักนำโรคไข้เลือดออก โดยการใช้สาร temephos ชนิดเคลือบผิวทรายควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนใส่ในภาชนะกักเก็บน้ำอย่างแพร่หลาย ขนาดที่แนะนำ คือ 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร สามารถควบคุมไม่ให้มีลูกน้ำได้นาน 3 เดือน แต่การที่ประชาชนมีการใช้น้ำ ตักออก และเติมเข้า ทำให้ความเข้มข้นของสาร temephos ลดลงจนไม่สามารถกำจัดลูกน้ำได้ การที่ลูกน้ำได้รับสารเคมีในระดับต่ำและรอดชีวิตนั้น สามารถทำให้เกิดพัฒนาการต้านทานต่อสาร temephos ได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองความไวต่อสาร temephos ของลูกน้ำยุงลาย ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม หาระดับความไวต่อสาร temephos ที่ความเข้มข้น 0.02 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความเป็นพิษเฉียบพลันที่ทำให้ลูกน้ำตาย ร้อยละ 50 (LC50) ของลูกน้ำยุงลายทดสอบ คำนวณระดับ resistance ratio (RR50)ของยุงทดสอบ โดยเปรียบเทียบกับยุงลายสายพันธุ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อสารเคมีกำจัดแมลง ผลการศึกษา พบว่า ยุง-ลายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ทั้งในเขตเทศบาลเมืองและนอกเขตเทศบาลเมืองมีความไวต่อสาร temephos ที่ความเข้มข้น 0.02 มิลลิกรัมต่อลิตรในระดับสูงและปานกลาง (อัตราการตายระหว่างร้อยละ 88-100) มี LC50 ต่อสาร temephos อยู่ระหว่าง 0.0021-0.01160 มิลลิกรัมต่อลิตร และระดับความต้านทานต่อสาร teme-phos ที่เหมือนกันคือระดับต่ำ โดยเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย มีค่าระดับความต้านทาน RR50 เท่ากับ 0.73, 2.15, 2.32, 2.50 และ 2.70 เท่า ตามลำดับ สำหรับนอกเขตเทศบาลเมืองจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย มีค่าระดับความต้านทาน RR50 เท่ากับ 1.08, 1.27, 0.91, 4.26 และ 0.87 เท่า ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่า ยุงลายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยมีพัฒนาการความต้านทานต่อสารกำจัดลูกน้ำ temephos อาจเนื่องมาจากการใส่ทราย temephos ในอัตราส่วนที่ไม่ถูกต้อง มีโอกาสที่ลูกน้ำยุง-ลายได้รับสาร temephos ในขนาดที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้มีพัฒนาการต้านทานต่อสารเคมีชนิดนี้ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้สาร temephos หลากหลายชนิดในการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก จึงควรมีการทดสอบความไวของลูกน้ำยุงลายต่อสาร temephos ชนิดต่างๆ ให้มากขึ้น และมีการทดสอบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงของระดับความไวและระดับความต้านทานของลูกน้ำยุงลายต่อสาร temephos ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย และเป็นข้อมูลที่ใช้แนะนำหน่วยงานที่จัดซื้อสารเคมีในการกำจัดแมลง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-12-06

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ