การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยหลักธรรมโอสถของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
คำสำคัญ:
สุขภาพแบบองค์รวม, หลักธรรมโอสถ, โรคเบาหวานบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมกิจกรรมธรรมโอสถร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม รวมทั้งศึกษารูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยหลักธรรมโอสถของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นการวิจัยแบบผสม (mixed methods research) แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 การวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุ 15-65 ปี อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 2,270 คน คำนวณขนาดตัวอย่างเพื่อประมาณค่าเฉลี่ยได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 328 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย ระยะที่ 2 การวิจัยกึ่งทดลอง คำนวณขนาดตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยประชากรสองกลุ่มที่อิสระต่อกัน ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 30 คน โดยกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 2ตำบล คือ ตำบลกุดใส้จ่อเป็นกลุ่มทดลอง และตำบลนาสีนวนเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ และระยะที่ 3 การวิจัยเชิงคุณภาพ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด มีผู้ร่วมวิจัยจำนวน 45 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย (1) แบบสอบถาม (2) ชุดโปรแกรมกิจกรรม และ (3) แบบสัมภาษณ์เชิงลึกใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูล 2 ปี 6 เดือน (กรกฎาคม 2558–มกราคม 2561) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (ANCOVA) กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05 ผลการศึกษาพบว่าพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ภาพรวมอยู่ในระดับน้อย (Mean=2.27 คะแนน SD=0.25) เมื่อแยกเป็นรายด้านพบว่า ด้านกายอยู่ระดับปานกลาง ส่วนด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านปัญญาอยู่ในระดับน้อย และพบว่า ก่อนการทดลองกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม FBS และHbA1c แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีคะแนนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเพิ่มขึ้น 1.39 คะแนน (95%CI: 1.06-2.58, p<0.001) ระดับ FBS ลดลง 39.76 mg/dL (95%CI:26.79 to 52.73, p<0.001) และหลังทดลอง กลุ่มทดลองมีค่า HbA1c ≤7 mg% สูงถึงร้อยละ 40.00 ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบ มี HbA1c ≤7 mg% เพียงร้อยละ 6.67 และรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยหลักธรรมโอสถของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อำเภอกันทรวิชัย ประกอบด้วย (1) การจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาควบคู่กับการดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เช่น การฟังธรรมเทศนา การสวดมนต์ และการเจริญสมาธิ (2) การให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานปฏิบัติเจริญสมาธิอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ (3) การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ และ (4) การสร้างแกนนำด้านสุขภาพในชุมชน โดยสรุปการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยหลักธรรมโอสถควบคู่กับการดูแลสุขภาพแพทย์แผนปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อำเภอกันทรวิชัย มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอยู่ในระดับที่สูงขึ้น และสามารถควบคุมค่าระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วน จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.