ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคปลาดิบ-สุกๆ ดิบๆ ของประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ ปี 2559
คำสำคัญ:
การบริโภค, ปลาดิบ-สุกๆดิบๆ, ศรีสะเกษบทคัดย่อ
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคปลาดิบ-สุกๆ ดิบๆ ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2559 กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จาก 22 อำเภอ 30 หมู่บ้านๆ ละ 30 คน รวม 900 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามด้วยวิธีการสัมภาษณ์โดยตรง วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับการบริโภคปลาดิบ-สุกๆ ดิบๆ ด้วยสถิติ simple logistic regression นำเสนอด้วยค่า crude odd ratio (ORc) และช่วงเชื่อมั่น 95% พบว่า ส่วนใหญ่มีการบริโภคอาหารที่ทำจากปลาดิบ-สุกๆ ดิบๆ ร้อยละ 69.4 บริโภคน้อยกว่า 1 ครั้ง/เดือน ร้อยละ 38.7 อาหารปลาดิบ-สุกๆ ดิบๆ ที่บริโภคมากที่สุดคือ ส้มตำปลาร้าดิบ ร้อยละ 94.2 สาเหตุที่ยังคงรับประทานคือ คิดว่าการกินน้อยๆ นานๆ ครั้ง ไม่น่าติดพยาธิ ร้อยละ 56.1 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบริโภคปลาดิบ-สุกๆ ดิบๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ เพศชาย (ORc= 1.4, 95% CI: 1.1-1.9) การดื่มสุรา (ORc=1.8, 95% CI: 1.3-2.4) การสูบบุหรี่ (ORc=2.1, 95% CI: 1.5-3.1) การไม่ทราบว่าอาหารที่ทำจากปลาดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เป็นสาเหตุของการป่ วยและเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดี (ORc=32.0, 95% CI: 21.6-47.5) อาชีพเกษตรกรรมเทียบกับข้าราชการ (ORc= 3.9, 95% CI: 1.9-7.9) และระดับการศึกษา รายได้ส่วนบุคคล รายได้ครอบครัวที่สูงขึ้น จะมีแนวโน้มการบริโภคปลาดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ลดลง ดังนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเร่งสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง และให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงการบริโภคปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ กับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและการเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดี ตลอดจนการรณรงค์ให้รับประทานปลาร้าสุก เพื่อลดอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.