ผลของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยหลังฉีดสีหลอดเลือดโคโรนารีผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ หน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดโรงพยาบาลลำปาง

ผู้แต่ง

  • กฤษณา พึ่งศรี หน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
  • สุกัญญา ปัญญาสุข หน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

คำสำคัญ:

การฉีดสีหลอดเลือดโคโรนารี, ภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดง, การดูแลผู้ป่วยหลังฉีดสี, ความพึงพอใจ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยหลังฉีดสีหลอดเลือดโคโรนารีผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ ต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดง คะแนนความไม่สุขสบายจากอาการปวดหลัง และคะแนนความพึงพอใจ เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมประเมินหลังการทดลองแบบปกปิด กลุ่มตัวอย่าง 272 ราย ที่มาตามนัดเพื่อฉีดสีหลอดเลือดโคโรนารีแบบรอการรักษาได้ และดึงท่อนำสายสวนห้ามเลือดโดยใช้มือกดทันทีที่หน่วยตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดโรงพยาบาลลำปาง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงธันวาคม 2560 กลุ่มตัวอย่างจะถูกสุ่มเข้ากลุ่มแบบหนึ่งต่อหนึ่งได้กลุ่มควบคุม 134 ราย กลุ่มทดลอง 138 ราย กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มหลังดึงท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดงใช้หมอนทรายทับเหนือแผล 2 ชั่วโมง ลุกขึ้นจากเตียงเมื่อครบ 4 ชั่วโมง กลุ่มทดลองใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.92 กลุ่มทดลองจัดท่านอนศีรษะสูงจากเตียง 15 ถึง 45 องศาในเวลา 4 ชั่วโมงหลังดึงท่อนำสายสวนหลอดเลือดแดง กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามแบบที่ปฏิบัติเป็นประจำโดยจัดท่านอนหงายราบศีรษะสูงจากเตียงไม่เกิน 15 องศาโดยไม่เปลี่ยนท่าในเวลา 4 ชั่วโมง ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดงที่เกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมง คือ ภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง (ร้อยละ 5.80 และร้อยละ 8.20, p=0.435) ภาวะเลือดออกบริเวณตำแหน่งแทงเข็ม (ร้อยละ 1.40 และร้อยละ 4.50, p=0.168) คะแนนความไม่สุขสบายจากอาการปวดหลังชั่วโมงที่ 4 และ 6 กลุ่มทดลองมีคะแนนน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1.78 และ 2.28, p<0.001) (0.46 และ 1.16, p<0.001) ตามลำดับ คะแนนความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อบริการพยาบาล กลุ่มทดลองมีคะแนนมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) สรุปการใช้ รูปแบบการดูแลผู้ป่วยหลังฉีดสีหลอดเลือดโคโรนารีผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบมีความปลอดภัย ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดง การจัดท่านอนเป็นหนึ่งในงานการพยาบาลที่ใช้เป็นวิธีในการแก้ไขปัญหาที่ไม่รุกรานและไม่ใช้เภสัชวิทยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังของผู้ป่วย การวางแผนให้การพยาบาลอย่างเหมาะสมจะช่วยลดอุบัติการณ์ความรุนแรงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือด ลดความไม่สุขสบายจากการนอนนาน เพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อบริการพยาบาล ควรมีการนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดภาวะ แทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดง

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ