บทเรียนด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองกับระบบยาของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • วิชัย โชควิวัฒน สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์

คำสำคัญ:

เศรษฐศาสตร์การเมือง, เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข, ระบบยาในประเทศไทย

บทคัดย่อ

เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม ย่อมมีอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อระบบยา บทความนี้ศึกษาอิทธิพลของเศรษฐศาสตร์การเมืองต่อระบบยาในประเทศไทย โดยวิธีการศึกษาจากเอกสาร ผลการศึกษาพบว่ายาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ในสมัยราชาธิปไตยผู้ปกครองใช้การเผยแพร่ความรู้เรื่องยาเป็นเครื่องมือในการปกครอง เพื่อสร้างความจงรักภักดีในหมู่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 การสาธารณสุขมิได้กำหนดไว้ในหลักหกประการของคณะราษฎร แต่ทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยการสร้างโรงพยาบาลจนครบทุกจังหวัด อำเภอ และตำบล ในด้านการคลังของระบบสาธารณสุขก็พัฒนาจนเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ พ.ศ.2545 ในส่วนของระบบยาประเทศไทยเดินตามแนวทางตะวันตกมาตั้งแต่ครั้งปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทั้งทางวิชาการ ธุรกิจ และการเมือง แต่ผู้นำด้านสาธารณสุขของไทยสามารถเผชิญปัญหาอย่างฉลาดและกล้าหาญ มีการพัฒนาระบบบัญชียาหลักแห่งชาติตามปรัชญาและหลักการขององค์การอนามัยโลกอย่างได้ผลโดยมีนโยบายแห่งชาติด้านยาและกลไกราคากลางยา รวมทั้งมีการพัฒนาภาคประชาสังคมจนเข้มแข็ง ทำให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายด้านยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดการทุจริตยาจากอำนาจทางการเมืองก็สามารถขัดขวาง และนำผู้ทำผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีอันตรายร้ายแรงจากยาก็มีกรณีตัวอย่างที่สามารถเพิกถอนได้อย่างรวดเร็ว แม้จะถูกฟ้องร้องให้เพิกถอนคำสั่งก็สามารถต่อสู้จนศาลยกฟ้อง เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยาราคาแพงจากสิทธิผูกขาด ก็สามารถใช้สิทธิกับสิทธิบัตรได้อย่างมืออาชีพ แต่ยังมีกรณีการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลที่ศาลตัดสินให้ยังคงใช้ได้ต่อไป โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่ต่อสู้จนถึงที่สุด น่าสังเกตว่า แม้ระบบการเมืองของประเทศจะไม่พัฒนาเท่าที่ควร แต่ในระบบสาธารณสุขและโดยเฉพาะระบบยาก็สามารถพัฒนาระบบที่ดีขึ้นได้ โดยการรวบรวมและเผยแพร่ตำรายา เกิดขึ้นตั้งแต่ในยุคราชาธิปไตย การพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ราคากลางยา และนโยบายแห่งชาติด้านยา เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเต็มใบ และการใช้สิทธิกับสิทธิบัตรยาเกิดขึ้นในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร สิ่งท้าทายสำคัญของการพัฒนาระบบยา คือ ระบบการศึกษาเภสัชศาสตร์และระบบที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถพัฒนาให้เกิดระบบการผลิตยาอย่างประเทศพัฒนาแล้ว การแพทย์แผนไทยและยาไทยที่ยังมุ่งการอนุรักษ์เป็นหลัก สุดท้ายควรพัฒนาความรู้และการใช้ประโยชน์จากเศรษฐศาสตร์การเมืองกับระบบยาให้ได้เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จด้วยดีมาแล้วจากเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-01-27

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

Special Article

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดจากผู้แต่งเรื่องนี้