การบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยในบริบทสุขภาพโลก

ผู้แต่ง

  • ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล สำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

สุขภาพปฐมภูมิ, สุขภาพโลก, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยในบริบทสุขภาพโลก โดยการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAR) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลจากข้อมูลเผยแพร่สาธารณะขององค์การอนามัยโลก องค์กรระดับนานาชาติ หน่วยงานภาครัฐ และฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย (ThaiJO) เพื่อคัดเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน 3 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1) บริการสุขภาพ 2) กำลังคน และ 3) การจัดการงบประมาณ จากนั้นนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลของทุกประเทศ ผลการศึกษาพบว่าระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยมีส่วนคล้ายกับประเทศส่วนใหญ่ในเขต SEAR มีการให้บริการสุขภาพหลากหลายตามชุดบริการสุขภาพที่จำเป็น การบูรณาการบริการสุขภาพแผนปัจจุบันและการแพทย์แผนดั้งเดิม การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) การพัฒนาบริการสุขภาพในชุมชน และการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม หลายๆ ประเทศยังคงมีผู้ใช้บริการระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิน้อยกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิยังประสบปัญหาในเรื่องของกำลังคนและการจัดการงบประมาณ โดยทุกประเทศขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ และในพื้นที่ซึ่งมีแพทย์ไม่เพียงพอจำเป็นต้องทดแทนด้วยบุคลากรอื่นๆ ที่ผ่านการอบรมเพิ่มเติม งบประมาณของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใช้หลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยการเหมาจ่ายเป็นรายหัวให้กับสถานบริการโดยตรง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับที่มากกว่าค่ากลางของระดับโลก จากผลการศึกษาดังกล่าวระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยต้องมีการพัฒนาที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้ปัญหาสุขภาพของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป โดยควรเน้นการสร้างความตระหนักในสุขภาพของประชาชนให้มีความใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการติดตามและให้การดูแลสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้น

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-02-28

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ