บรรณาธิการ : นายอุทิศ จิตเงิน
เกี่ยวกับวารสาร
ข้อมูลวารสาร
วารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) จัดทำขึ้นโดยศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยตีพิมพ์ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นช่องทางการเผยแพร่ตีพิมพ์ผลงานการจัดการองค์ความรู้ ผลงานวิชาการ และผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และบุคคลที่สนใจ เพื่อเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านระบบสุขภาพกับภาคีเครือข่อย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมผลงานวิชาการ และผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ผลงานวิชาการ และผลงานวิจัยของนักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และบุคคลที่สนใจ
- เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผลงานวิชาการ และผลงานงานวิจัยของศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคเหนือ และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ
- เพื่อจัดให้มีวารสารวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
- เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิชาการของศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคเหนือ และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ
กระบวนการพิจารณา : บทความทุกบทความจะต้องผ่านการพิจารณา โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 ท่าน แบบผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แต่ไม่ทราบชื่อกันและกัน (Double-blind review)
ประเภทของบทความ : บทความวิชาการ บทความวิจัย และนวัตกรรม
ภาษาที่รับตีพิมพ์ : ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ
กำหนดออก : วารสารตีพิมพ์ปีละ 3 ฉบับ ราย 4 เดือน ดังนี้ ฉบับที่ 1 (มกราคม - เมษายน), ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม), ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม)
รูปแบบของวารสาร
- รูปลักษณะวารสารวิชาการทั่วไป แต่สอดแทรกรูปภาพบ้างในส่วนที่ไม่ใช้เนื้อหาวิชาการโดยตรง
- มีขนาดเล่ม 0 x 28.7 ชม. ความหนาไม่เกิน 200 หน้า โดยเผยแพร่ในรูปแบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-journal)
แนวทางการบริหารการจัดทำวารสาร
เพื่อให้การจัดทำวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) มีคุณภาพและได้มาตรฐาน คณะกองบรรณาธิการได้กำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ ดังนี้
- มีการปรับปรุงคณะกองบรรณาธิการโดยสม่ำเสมอเพื่อให้ครอบคลุมงานวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คณะกองบรรณาธิการจะมาจากหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งภายในศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ กรมวิชาการต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ จากหลายสถาบันเป็นกลุ่มประเมินบทความต้นฉบับ หรือ Reviewers ของวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ)
- วารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) เปิดรับบทความจากนักวิชาการต่างๆ ในทุกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งนี้ บทความที่ต้องการพิมพ์เผยแพร่ จะต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อน โดยมีรูปแบบตามแนวทางที่วารสารกำหนด และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication ethics) ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อแนะนำในการเตรียมต้นฉบับและข้อกำหนดด้านจริยธรรมจะอ่านได้จาก Website ของวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคคหนือ)https://thaidj.org/index.php/pjne/Publication-ethics หรือจากวารสารในฉบับที่ 1 ของทุกปี
- วารสารวิชาการยึดหลักการดำเนินการตามจริยธรรมการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ ต้นฉบับที่ฝ่ายจัดการวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) ได้รับจะผ่านกระบวนการ ดังต่อไปนี้
3.1 การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นโดยนักวิชาการภายในกองบรรณาธิการและคณะจัดการวารสาร หากเอกสารไม่ครบถ้วน ก็จะแจ้งเจ้าของบทความเพื่อทำการแก้ไขและส่งต้นฉบับมาใหม่
3.2 ต้นฉบับที่ผ่านการคัดกรองแล้วจะถูกส่งต่อไปยังบรรณาธิการเพื่อการประเมินคุณภาพ และพิจารณาหาผู้เหมาะสมในการประเมินหรือทบทวนบทความ (Reviewers)
3.3 ต้นฉบับแต่ละเรื่องจะถูกส่งไปให้ Peer Reviewers อย่างน้อย 2 คน เพื่อประเมินและให้คำแนะนำต่อบรรณาธิการ ทั้งนี้ Peer Reviewers จะเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับต้นฉบับนั้นๆ โดย Peer reviewers จะต้องมาจากหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของเจ้าของต้นฉบับ และการส่งต้นฉบับให้แก่ Peer reviewers นั้น จะมีการปิดบังชื่อและหน่วยงานของเจ้าของบทความไว้
3.4 Peer Reviewers จะได้รับคำแนะนำจากกองจัดทำวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) ให้พิจารณาบทความตามเกณฑ์ที่กองบรรณาธิการวารสารวิชาการกำหนด ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวจะกำหนดให้มีการสรุปความเห็นต่อบรรณาธิการเพื่อดำเนินการต่อต้นฉบับอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการคือ
(1) พิจารณาว่าบทความมีคุณภาพดี และสมควรพิมพ์เผยแพร่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขในสาระสำคัญ
(2) บทความมีคุณภาพพอประมาณ และสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ และสมควรตีพิมพ์เผยแพร่ภายหลังได้รับการปรับแก้แล้ว ทั้งให้ข้อชี้แนะในส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อแจ้งให้ผู้นิพนธ์ได้ดำเนินการปรับปรุงต่อไป หรือ
(3) บทความไม่มีคุณภาพ ไม่เสริมสร้างความรู้ใหม่ และไม่ควรตีพิมพ์ - เมื่อ Peer Reviewers พิจารณาต้นฉบับแล้ว จะส่งผลการพิจารณาพร้อมต้นฉบับที่ได้รับการทบทวนคืนมายังกองจัดทำวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ)
- บรรณาธิการจะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก Peer Reviewers ทั้ง 2 คน และจะประสานงานกับเจ้าของบทความเพื่อแจ้งผลการพิจารณา และให้ดำเนินการปรับแก้ ในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุงต้นฉบับ ทั้งนี้ เจ้าของบทความจะไม่ทราบชื่อของ Peer Reviewers
- ต้นฉบับที่มีความสมบูรณ์ จะได้รับการตีพิมพ์โดยเร็ว ทั้งนี้ กองจัดทำวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) จะแจ้งให้ผู้นิพนธ์ได้ทราบล่วงหน้าว่า ต้นฉบับดังกล่าว จะลงพิมพ์ในฉบับใด
- บทความที่พร้อมจะตีพิมพ์ จะได้รับการทำตามรูปแบบของวารสารฯ จากนั้น กองจัดทำวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) จะส่งให้เจ้าของต้นฉบับตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนของเนื้อหาเป็นครั้งสุดท้าย และเมื่อได้รับการตอบรับการตรวจสอบแล้ว ก็จะนำไปจัดเลขหน้าเพื่อพิมพ์เผยแพร่ต่อไป
การเตรียมต้นฉบับ : สำหรับการเตรียมบทความที่เป็นนิพนธ์ต้นฉบับ แต่หลายหัวข้อก็ใช้สำหรับบทความประเภทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ผู้สนใจสามารถศึกษารูปแบบจากบทความแต่ละประเภทในวารสารฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว
- ชื่อเรื่อง ควรสั้นกะทัดรัด และสื่อถึงเป้าหมายหลักของการศึกษา ไม่ใช้คำย่อ ความยาวไม่เกิน 100 ตัวอักษร ชื่อเรื่องต้องมีภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- ชื่อผู้นิพนธ์ ชื่อผู้นิพนธ์ให้มีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ไม่ใช้คำย่อ) ระบุหน่วยงานหรือสถานที่ผู้นิพนธ์ทำงาน และระบุชื่อ E-mail ของผู้นิพนธ์ที่ใช้ติดต่อ
- บทคัดย่อ (Abstract) เป็นเนื้อความย่อตามลำดับโครงการสร้างของบทความ ได้แก่ บทนำ วัสดุและวิธีการศึกษา ผลการศึกษา และวิจารณ์ ประมาณ 250-300 คำ ใช้ภาษารัดกุมเป็นประโยคสมบูรณ์ มีความหมายในตัวเองไม่ต้องหาความหมายต่อ ไม่ควรมีคำย่อ ต้องเขียนบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- คำสำคัญ (Key words) ใส่ไว้ท้ายบทคัดย่อ มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เป็นหัวข้อเรื่องสำหรับช่วยในการค้นหาบทความ โดยใช้ Medical Subject Headings (MeSH) terms ของ U.S. National Library of Medicine เป็นแนวทางการให้คำสำคัญหรือคำหลัก
- บทนำ (Introduction) เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่บอกเหตุผลนำไปสู่การศึกษา เป็นส่วนที่อธิบายให้รู้ปัญหา ลักษณะ และขนาด เป็นการนำไปสู่ความจำเป็นในการศึกษาวิจัยให้ได้ผลเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบคำถามที่ตั้งไว้ หากมีทฤษฎีที่จำเป็นต้องใช้ในการศึกษา อาจวางพื้นฐานไว้ในส่วนนี้ได้ แต่ไม่ต้องทบทวนวรรณกรรม ที่ไม่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการศึกษา และให้รวมวัตถุประสงค์ของการศึกษาในส่วนท้ายของบทนำ
- วิธีดำเนินการศึกษา (Methods หรือ Material and Methods) ระบุรูปแบบแผนการศึกษา (Study design, Protocol) เช่น Randomized double blind, Descriptive หรือ Quasi-experiment กลุ่มตัวอย่าง วิธีการสุ่มตัวอย่าง เช่น การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย แบบหลายขั้นตอน วิธีหรือมาตรการที่ศึกษา (Interventions) เช่น รูปแบบการศึกษา การรักษา ชนิดและขนาดของยาที่ใช้ ถ้าเป็นมาตรการที่รู้จักทั่วไป ให้ระบุในเอกสารอ้างอิงถ้าเป็นวิธีใหม่ อธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจแล้วนำไปใช้ต่อได้ ให้ระบุเครื่องมือหรืออุปกรณ์และหลักการที่ใช่ในการศึกษาเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพให้ชัดเจน และกระชับ รวมถึงเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เช่น แบบสอบถาม การทดสอบความเชื่อถือ วิธีการเก็บข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ รวมทั้งการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
- ผลการศึกษา (Results) แสดงผลที่พบตามลำดับหัวข้อของแผนการศึกษาอย่างชัดเจน ดูง่าย ถ้าผลไม่ซับซ้อนไม่มีตัวเลขมากบรรยายเป็นร้อยแก้ว แต่ถ้าตัวเลขมาก ตัวแปรมากควรใช้ตารางหรือแผนภูมิ โดยไม่ต้องอธิบายตัวเลขในตารางซ้ำอีกในเนื้อเรื่อง ยกเว้นข้อมูลสำคัญๆ แปลความหมายของผลที่ค้นพบหรือวิเคราะห์และสรุปเปรียบเทียบกับสมมติฐานที่วางไว้อย่างจำกัด
- อภิปรายผล (Discussion) แสดงบทวิจารณ์ผลการศึกษาว่าตรงกับวัตถุประสงค์หรือสมมติฐานของการวิจัย หรือแตกต่างไปจากผลงานที่มีผู้รายงานไว้ก่อนหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น วิจารณ์ผลที่ไม่ตรงตามที่คาดหวังอย่างไม่ปิดบัง อาจแสดงความเห็นเบื้องต้นตามประสบการณ์หรือข้อมูลที่ตนมี เพื่ออธิบายส่วนที่โดดเด่นแตกต่างเป็นพิเศษได้ ควรมีข้อสรุปว่า ผลที่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์การวิจัยหรือไม่และให้ข้อเสนอแนะที่นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือให้ประเด็นคำถามที่ควรมีการวิจัยต่อไป
- ตาราง รูปภาพ และแผนภูมิ บทความเรื่องหนึ่งๆ ไม่ควรมีตารางหรือรูปภาพมากเกินไป จำนวนที่เหมาะสมคือ 1-5 ตารางหรือรูปภาพ โดยมีลำดับที่และชื่อของตารางหรือรูปภาพอยู่ด้านบน ภาพที่ใช้ควรเป็นที่มีความชัดเจนสูง อาจเป็นไดอะแกรม ภาพวาด ภาพถ่าย หรือกราฟที่ทำจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แม้จะใส่ภาพในบทความแล้ว ก็ควรส่งแยกเป็นไฟล์ต่างหากร่วมด้วย
- เอกสารอ้างอิง (References) เป็นการรวบรวมรายชื่อเอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อความ ในเนื้อเรื่อง โดยการอ้างอิงจากระบบการอ้างอิง แบบ American Psychological Association 7th edition (APA) จะนำมาเรียงในส่วนของเอกสาร อ้างอิงท้ายเรื่อง ทั้งนี้ อ้างอิงในเนื้อหาจะต้องสอดคล้องกับในรายการบรรณานุกรมท้ายบทความทุกรายการ
รูปแบบบทความ
- พิมพ์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word ความยาวไม่เกิน 12 หน้ากระดาษ A4
- แบบอักษร TH SarabanPSK โดยหัวข้อใช้ขนาด 16 Point (ตัวหนา) เนื้อหา ใช้ขนาด 16 Point (ปกติ)
- ใช้ตัวเลขอารบิกทั้งบทความ
- การส่งบทความ จัดส่งได้ 2 วิธี ดังนี้
4.1 ส่งบทความผ่านระบบออนไลน์ที่ https://thaidj.org/index.php/NRTC/index
4.2 ส่งบทความแบบไฟล์ Word พร้อมแผ่นซีดี ในรูปแบบหนังสือราชการ โดยระบุชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมลของผู้นิพนธ์ให้ชัดเจน และจ่ายหน้าซองมาที่ กองบรรณาธิการวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) ศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคเหนือ เลขที่ 516/41 หมู่ 10 ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ รหัสไปรษณีย์ 60000
กองบรรณาธิการจะรับพิจารณาบทความที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้นิพนธ์ทราบหลังจากได้รับบทความแล้ว
5. ความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์
5.1 ผู้นิพนธ์ ต้องมีความซื่อสัตย์มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณในการดำเนินงานวิจัย และการเขียนรายงานผลการวิจัย
5.2 ผู้นิพนธ์ ต้องรับรองว่าผลงานที่เขียนขึ้นได้มาจากข้อเท็จจริงจากการศึกษาไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ
5.3 ผู้นิพนธ์ ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นที่ปรากฏอยู่ในงานของตน
5.4 ผู้นิพนธ์ ต้องไม่คัดลอกผลงานของบุคคลอื่น
5.5 ผู้นิพนธ์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลงานของตน และรับรองว่าผลงานไม่เคยถูกตีพิมพ์หรือกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ที่ใด
5.6 ผู้นิพนธ์ ต้องระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของผลงานร่วมทุกคน ระบุบทบาทหน้าที่และสัดส่วนของความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในกรณีที่ไม่ได้เขียนคนเดียว
5.7 ผู้นิพนธ์ ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้
5.8 กรณีที่ผู้นิพนธ์ยกเลิกบทความ หลังจากที่ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความแล้ว จะต้องชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 3,000 บาท
5.9 ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ทำผิดข้อกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 5.2, 5.3, 5.4 และ 5.5 วารสารจะตัดสิทธิ์การตีพิมพ์เป็นระยะเวลา อย่างน้อย 3 ปี และวารสารจะแจ้งหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์สังกัดหรือผู้นิพนธ์แล้วแต่กรณี
5.10 บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ถือเป็นผลงานและความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ มิใช่ความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการแต่ประการใด
เจ้าของวารสาร: ศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ที่อยู่: 516/41 หมู่ 10 ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ รหัสไปรษณีย์ 60000
โทรศัพท์: 095-7095942,095-2464124
Email: northphc516@gmail.com
Download articles at: https://thaidj.org/index.php/NRTC/index