ความรอบรู้ด้านสุขภาพกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
Health Literacy to Control Blood Sugar Level in Type 2 Diabetic Patients
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพและระดับพฤติกรรมการดูแลตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับระดับน้ำตาลในเลือดและระดับพฤติกรรมการดูแลตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างระดับพฤติกรรมการดูแลตนเองกับระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
สถานที่ศึกษา : โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
รูปแบบการวิจัย : ศึกษาวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวาง
กลุ่มตัวอย่าง : ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งชายและหญิง อายุตั้งแต่ 35 ถึง 65 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และอาศัยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 416 คน
วิธีศึกษา : สุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บข้อมูลช่วงเดือนธันวาคม 2562 ถึงกรกฎาคม 2563 โดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้น ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ระดับน้ำตาลในเลือด แบบประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน 6 ด้าน และแบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์ (chi-square test) ฟิชเชอร์ เอกแซค (fisher’s exact test) และสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (pearson’s correlation coefficient) กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ P น้อยกว่า 0.05
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับก้ำกึ่งและไม่เพียงพอ ร้อยละ 94.2 มีเพียงร้อยละ 5.8 ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับเพียงพอ และมีพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 67.9 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา การประกอบอาชีพ และระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน ความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยรวมมีความสัมพันธ์แปรผันตามระดับพฤติกรรมการดูแลตนเอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด ในขณะที่พฤติกรรมการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
วิจารณ์และสรุป : ควรมีการประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพในแต่ละองค์ประกอบ เพื่อนำไปประกอบการเลือกวิธีการให้ความรู้ ช่องทางการให้ข้อมูล การให้คำแนะนำต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
คำสำคัญ : ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ABSTRACT
Objective : This research has been done to study the health literacy and self-care behavior levels in Type 2 diabetic patients, the relation between personal privacy, healthy literacy and self-care behavior and the average cumulated blood sugar level.
Setting : Sawanpracharak Hospital Nakhon Sawan Province
Design : Cross-sectional survey
Subjects : The 416 patients were male and female age between 35 – 65 years old and diagnosed as Type 2 diabetes, treat at Sawanpracharak Hospital, live in Nakhon Sawan Province
Method : Simple Random Sampling and collect information during December 2019-July 2020 by using questionnaire including – general information, evaluation form of 6 health literacy-aspects in diabetic patient, evaluation form 0f self-care behavior. Chi-square test, Fisher’s Exact Test and Pearson‘s correlation coefficient was used to analyze with P value was less than 0.05 statistically.
Results : Showed 94.2% with marginal and inadequate health literacy level, only 5.8% with adequate health literacy. Self-care behavior was at 67.9% in average. The factor of age, educational level, occupation and length of being diabetes affect the knowledge significantly and also health literacy related to self-care behavior significantly but not blood sugar level whereas the self-care has related significantly with blood sugar level
Conclusion : Almost all of the samples were marginal health literacy level. Health literacy should be assessed in each component. To be used in the selection of methods for educating Information channels giving various advices Suitable for the patient
Key words : Health literacy, Type 2 diabetic patients