ความชุกของภาวะสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยต้อหิน : Prevalence of glaucomatous blindness
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
โรคต้อหินเป็นปัญหาสำคัญของวงการสาธารณสุขและจัดเป็นภัยเงียบคุกคามต่อการมองเห็น ทั้งที่ในปัจจุบันได้มีพัฒนาการรักษาต้อหินเป็นวงกว้างทั่วโลกทั้งเรื่องยาและการผ่าตัด แต่ต้อหินยังคงเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเรื่องความชุกของภาวะสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยต้อหินยังคงแตกต่างกันอย่างมาก
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกของภาวะการสูญเสียการมองเห็นตามลักษณะทางคลินิกและลักษณะพื้นฐานในผู้ป่วยต้อหิน
รูปแบบงานวิจัย : Descriptive study, retrospective data collection
วิธีการศึกษา : เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยต้อหินที่บันทึกในฐานข้อมูลระบบ HosXp ของผู้ป่วยนอกแผนกจักษุวิทยา โรงพยาบาลชัยภูมิ จำนวน 506 คน ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2559
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยทั้งหมดในการศึกษา 506 คน พบว่าผู้ป่วยต้อหินที่มีภาวะสูญเสียการมองเห็นทั้งหมด 180 คนคิดเป็น 35.57% (95% CI 31.51 - 39.86) โดยมีภาวะสูญเสียการมองเห็น 1 ข้าง (Unilateral blidness) 153 คน 84.44% (95% CI 78.33 - 89.08) และมีภาวะการสูญเสียการมองเห็นตั้งแต่เริ่มรักษา 51% สำหรับความชุกของภาวะสูญเสียการมองเห็นแยกตามชนิดของต้อหิน พบว่าต้อหินชนิดอื่นๆ (secondary glaucoma) มีความชุกของภาวะสูญเสียการมองเห็นมากที่สุด รองลงมาคือต้อหินชนิดมุมปิด (ACG) และต้อหินชนิดมุมเปิด (OAG) 45.2% (95% CI 29.5 – 60.5), 40.2% (95% CI 21.8 – 48.5) และ 32.4 % (95% CI 27.3 – 37.5) สำหรับ เพศ, อายุ, ค่าความดันตาเริ่มต้น, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, ระยะเวลาการรักษา, การรักษาด้วยการผ่าตัด Traculectomy, ยิงเลเซอร์, ผ่าตัดต้อกระจกและ รักษาด้วยยาอย่างเดียว พบว่ามีความชุกของการมีและไม่มีภาวะสูญเสียการมองเห็นใกล้เคียงกัน
สรุป : การศึกษานี้พบว่าความชุกของภาวะการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยต้อหินสูงถึง 35.57% โดยที่ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่งมีภาวะตาบอดตั้งแต่แรกก่อนเริ่มรักษา ดังนั้นการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยต้อหินเชิงรุกในระดับนโยบาย อาจจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงความชุกของภาวะสูญเสียการมองเห็นให้ลดลงได้ อีกทั้งต้อหินมุมปิดกับต้อหินชนิดอื่นๆที่พบภาวะสูญเสียการมองเห็นสูงควรได้รับการเฝ้าระวังและรักษาอย่างใกล้ชิด
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2021 ชัยภูมิเวชสาร
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.