การเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างการใช้ผ้าห่มประดิษฐ์และผ้าห่มสำเร็จรูปกับการใช้เครื่องเป่าลมอุ่นในผู้ป่วยผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง

ผู้แต่ง

  • ปรีดารา ปรุงชัยภูมิ วิสัญญีพยาบาล โรงพยาบาลชัยภูมิ

คำสำคัญ:

ผ้าห่มประดิษฐ์, ภาวะอุณหภูมิกายต่ำ, อาการหนาวสั่น, การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง, การระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิกาย อาการหนาวสั่น และค่าใช้จ่ายระหว่างการใช้ผ้าห่มประดิษฐ์ และผ้าห่มสำเร็จรูป กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลังโรงพยาบาลชัยภูมิ โดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 60 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 30 ราย โดยกลุ่มทดลองได้ใช้ผ้าห่มประดิษฐ์ที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้นใหม่จากผ้าร่ม กลุ่มควบคุมใช้ผ้าห่มสำเร็จรูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบบันทึกซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลการผ่าตัดและการระงับความรู้สึก ข้อมูลอุณหภูมิกาย อาการหนาวสั่น และค่าใช้จ่ายซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยเมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องรอผ่าตัดจะได้รับการวัดอุณหภูมิทางหูครั้งที่ 1(T1)  และเมื่อวิสัญญีแพทย์ให้การระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง ผ่านไป 15 นาที วัดอุณหภูมิทางหูครั้งที่ 2(T2) หลังฉีดยาชา 30 นาที วัดอุณหภูมิทางหูครั้งที่ 3(T3) หลังฉีดยาชา 45 นาที วัดอุณหภูมิทางหูครั้งที่ 4(T4) พร้อมทั้งสังเกตอาการหนาวสั่นตลอดการผ่าตัด ระหว่างเดือน มกราคม-เมษายน 2560 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติอนุมาน ได้แก่ Independent t-test

ผลการวิจัยพบว่า หญิงที่มารับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องทั้งสองกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย () 27.5 ปี และ มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 25-29.9 และมีอุณหภูมิแกนเฉลี่ยอยู่ในช่วง  36.6-37.0 องศาเซลเซียส และทั้งสองกลุ่มตัวอย่างไม่เกิดอาการหนาวสั่น ผลลัพธ์ระหว่างการใช้ผ้าห่มประดิษฐ์และผ้าห่มสำเร็จรูปกับการใช้เครื่องเป่าลมอุ่นในผู้ป่วยผ่าตัดคลอดบุตรด้วยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ

ข้อเสนอแนะจากการวิจัย เพื่อให้การป้องกันการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำ และอาการหนาวสั่นมีความครอบคลุมมากขึ้นเห็นสมควรนำไปใช้ให้ครอบคลุมทั้งระยะก่อนและหลังผ่าตัด และควรประดิษฐ์ผ้าห่มแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้กว้างขวางขึ้น และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผาห่มสำเร็จรูปซึ่งมีราคาแพงกว่า

เอกสารอ้างอิง

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย. (2553). สูติศาสตร์ฉุกเฉิน. กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการแม่และเด็กชุดที่ 10 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย.

สาธร หมื่นสกุล. (2556). ผลของการให้โปรแกรมอบอุ่นร่างกายต่ออุณหภูมิแกนและอาการหนาวสั่นในหญิงที่รับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง. วิทยานิพนธ์ สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ มหาวิทยาลัยบูรพา.

Crowley LJ, Buggy DJ. (2008). Shivering and neuraxial anesthesia. Reg Anesth Pain Med. 33:241-252.

Madrid E, Urrútia G, Roqué i Figuls M, Pardo-Hernandez H, Campos JM, Paniagua P, Maestre L, et al. (2016). Active body surface warming systems for preventing complications caused by inadvertent perioperative hypothermia in adults. Cochrane Database Syst Rev, 21;4:CD009016.

Bartz, A. E. (1999). Basic statistical concepts (4th ed.). Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall.

American Society of Anesthesiologists. (2012). ASA Physical Status Classification System. [Online] Available form: https://www.asahq.org/resources/clinical-information/asa-physical-status-classification-system. (2017, 10 August).

Cochrane. (2016). About the Cochrane Library. [Online] Available forme: http://www.cochranelibrary.com/about/about-the-cochrane-library.html. (2017, 10 August)

ชาริณี ประจันทร์, เทพกร สาธิตการมณี, สิริรัตน์ ตรีพุทธรัตน์, สรรชัย ธีรพงศ์ภักดี, ดวงธิดา นนท์เหล่าพล, และ วิริยา ถิ่นชีลอง. (2556). ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะอุณหภูมิกายต่ำขณะผ่าตัดในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับการป้องกันตามมาตรฐาน: ศึกษาแบบ Case-Control. วิสัญญีสาร, 39(3):183-91.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-07-31 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-27

เวอร์ชัน