ความรู้ทัศนคติและความพึงพอใจต่อการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำของมารดาวัยรุ่น ตึกหลังคลอด โรงพยาบาลชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • สิริลัดดา บุญเนาว์ แผนกหลังคลอด โรงพยาบาลชยภูมิ

คำสำคัญ:

มารดาวัยรุ่น, ความรู้, ทัศนคติ, ความพึงพอใจ

บทคัดย่อ

จากสถานการณ์การคลอดของมารดาวัยรุ่นโรงพยาบาลชัยภูมิ ที่อายุต่ำกว่า 19 ปีต่อ 1,000 คน ในปีพ.ศ. 2557 พบว่ามี 515 คน คิดเป็นร้อยละ 13.65 ของมารดาหลังคลอดทั้งหมด เป็นมารดาวัยรุ่นครรภ์แรก 455 คน คิดเป็นร้อยละ 88.35 ครรภ์ที่สอง 58 คน คิดเป็นร้อยละ 11.26 และครรภ์ที่สาม 9 คน คิดเป็นร้อยละ 0.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่ามารดาวัยรุ่นมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ขณะคลอดและหลังคลอด ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 21 คน คิดเป็นร้อยละ 4.07 ภาวะตกเลือดหลังคลอด 4 คน คิดเป็นร้อยละ 0.78 ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.39 โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.39 และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.19 จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่ามารดาวัยรุ่นที่มาคลอดที่โรงพยาบาลชัยภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอดที่มีความรุนแรงมากขึ้นจึงมีความต้องการศึกษาความรู้ทัศนคติและความพึงพอใจการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำของมารดาวัยรุ่น   

การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ทัศนคติและความพึงพอใจ ต่อการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำของมารดาวัยรุ่น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์ซ้ำของมารดาวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างได้แก่ มารดาวัยรุ่นที่มาคลอดที่โรงพยาบาลชัยภูมิ จำนวน 31 ราย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทดสอบความเชื่อมั่น โดยวิธีอัลฟาครอนบาค ด้านความรู้เท่ากับ 0.75 ด้านทัศนคติ เท่ากับ 0.78 ด้านความพึงพอใจ เท่ากับ 0.79 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการตอบแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  

ผลการศึกษา: พบว่า มารดาวัยรุ่นมีความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดในระดับต่ำ มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุมกำเนิดในระดับปานกลาง  มีความพึงพอใจในการให้บริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก 

  จากการศึกษาพบว่ามารดาวัยรุ่นมีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง  จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิดและการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การศึกษาของมารดาวัยรุ่นพบว่ามีทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน จึงควรมีการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา ในการศึกษาทุกระดับชั้น สถาบันครอบครัว พ่อแม่และผู้ปกครอง เป็นบุคคลที่วัยรุ่นนึกถึงและต้องการความช่วยเหลือในลำดับแรก ครอบครัวควรดูแลเอาใจใส่วัยรุ่นเป็นที่ปรึกษาและเป็นที่พึ่งให้แก่วันรุ่นได้ดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

สถิติแม่วัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปี คลอดวันละ 365 คน/ต่ำกว่า 15 ปี วันละ 10 คน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.hfocus.org/content/2013/09/4642. [ค้นเมื่อ 13 เมษายน 2558]

กรมอนามัย. สถานการณ์อนามัยเจริญพันธุ์. นนทบุรี : กรม, 2554.

สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม โครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศในรูปแผนที่ทางสังคม ปีงบประมาณ 2556. กรุงเทพฯ : กระทรวง, 2557.

โรงพยาบาลชัยภูมิ ตึกหลังคลอด. สถิติการตั้งครรภ์วัยรุ่น. ชัยภูมิ: โรงพยาบาลชัยภูมิ, 2557.

Benjamin, S Bloom. ‘Learning for mastery’. Evaluation comment. Center for the study of instruction program. University of California at Los Angeles, 1986.

Best, J.W. Research in education. Englewood Cilifts, New Jersy: printice-Hall, 1970.

พิมล วงศ์ศิริเดช, (บรรณาธิการ). เวชศาสตร์ปริกำเนิดทันยุค. กรุงเทพฯ: สมาคมเวชศาสตร์ปริกำเนิดแห่งประเทศไทย, 2556.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-08-01 — อัปเดตเมื่อ 2021-09-02

เวอร์ชัน