การพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนอกและเอวหักกดทับไขสันหลังที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังและการดูแลต่อเนื่องในระยะกลาง : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • พัชรฉัตร ภูมิสถาน หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกหญิงและเด็ก กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลชัยภูมิ

คำสำคัญ:

การบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง, การดูแลต่อเนื่องในระยะกลาง

บทคัดย่อ

การบาดเจ็บกระดูกสันหลังหักและเคลื่อนที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิต ความพิการ ระยะเวลาการดูแลรักษาที่ยาวนาน ผู้ป่วยจะเกิดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด ความพิการหรือเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนของโรค การดูแลต่อเนื่องระยะกลาง (Intermediate care : IMC) เป็นการพัฒนาในระบบบริการ Service Plan ที่เชื่อมโยงระบบบริการโรงพยาบาลทุกระดับตั้งแต่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยมีเป้า หมายสูงสุดเพื่อให้ผู้ป่วยระยะกลางปลอดภัย ฟื้นฟูสภาพด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคม และจิตวิญญาณ ฟื้นหายจากโรคไม่เกิดความพิการ สามารถจัดการกับสุขภาพตนเองได้และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างใกล้เคียงปกติ กรณีศึกษานี้เป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับพยาบาลหอผู้ป่วยในการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมก่อนจำหน่ายและการวางรูปแบบการดูแลต่อเนื่องระยะกลางของผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลัง

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว (T12-L1) หักกดทับไขสันหลังที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังและการดูแลต่อเนื่องในระยะกลาง(Intermediate care : IMC )

ผลการศึกษา : ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 17 ปี ได้รับอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซด์ชนกับรถปิกอัพ และรถพ่วงมอเตอร์ไซด์ทับร่าง ผู้ป่วยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหลังเกิดเหตุ 1 ชั่วโมง ถึงโรงพยาบาลรู้สึกตัวดี มีบาดแผลตามตัว ใบหน้า หลัง และ ขาทั้ง 2 ข้างมีอาการชาไม่รู้สึก ขาซ้ายผิดรูป แรกรับ GSC: 13 (E3 V 4 M 6) แพทย์วินิจฉัย Fractures and Dislocations of T12-L1 with Tear Dura with Closed Fracture Lift shaft Femur วันที่ 7 มิถุนายน 2562 ได้รับการผ่าตัดครั้งที่ 1 ทำ Laminectomy T12-L2 with Pedicular Screw Fixation T12-L2 with Poster lateral Fusion Repair Dura ได้ผ่าตัดครั้งที่ 2 วันที่12 มิถุนายน 2562 เพื่อแก้ไขเรื่องกระดูกต้นขาหักโดยทำผ่าตัด Open Reduction Internal Fixation with plate and Screw Left Femur หลังการผ่าตัดผู้ป่วยปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อน พักรักษาตัวใน รพ.ทั้งหมด 48 วัน จำหน่ายกลับบ้านผู้ป่วยเดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย มีอัมพาตเฉพาะท่อนล่าง (Paraplegia) (Motor Power grade 0) ไม่สามารถปัสสาวะได้เอง ใส่สายสวนปัสสาวะไว้ การประเมิน Barthel ADL index ได้ 5 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ การดูแล IMC ทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกับพยาบาลชุมชนได้ร่วมดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องอีก 6 เดือน โดยมีนัดติดตามอาการเป็นระยะทุก 1 เดือน ในบทบาทพยาบาลการดูแลผู้ป่วยทุกระยะในโรงพยาบาลและการวางแผนจำหน่ายโดยเมื่อกลับไปอยู่บ้านเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด ปัจจุบันผู้ป่วยเดินได้เองโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน knee brace ร่วมกับ walker สามารถปัสสาวะเองได้ และสามารถทำกิจกรรมด้วยตัวเองได้มากขึ้น ระหว่างศึกษา Case ผู้ป่วยไม่ได้กลับมารักษาตัวใน รพ. นอกจากนี้ผู้ป่วยมีความรู้และทักษะในการดูแลตนเองและปฏิบัติกิจกรรมในการฟื้นฟูสภาพร่างกายของตนเองตามที่แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูให้โปรแกรม ได้เป็นอย่างดี 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข. (2560). สถิติผู้ป่วยโรคประสาทไขสันหลัง. กรุงเทพฯ : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.

กระทรวงสาธารณสุข. (2558). คู่มือเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดระบบประสาทไขสันหลังและกระดูกสันหลัง.กรุงเทพฯ:สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.

สุขใจ ศรีเพียรเอม, ธวัช ประสาทฤทธา, วีระ สถิรอังกูร. (2555). การพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลังและประสาทไขสันหลัง.ใน ธวัช ประสาทฤทธา, พรทิพย์ ลยานันท์, และ สุขใจ ศรีเพียรเอม. [บรรณาธิการ]. การพยาบาลออร์โธปิดิกส์. กรุงเทพฯ : โรงพยาบาลเลิศสิน, 228-69.

นิรมล จันทร์ธานี. (2019). การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกไขสันหลังและไขสันหลัง ในรูปแบบ Home ward : กรณีศึกษา. วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม, 16(2):92-103.

อภิชนา โฆวินทะ. (2557). คู่มือสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง (ฉบับปรับปรุงครั้งที่5).เชียงใหม่ : ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-08-20 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-18

เวอร์ชัน