สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการรังสี รักษาในประเทศไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผู้แต่ง

  • ภูษิต ประคองสาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
  • วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
  • สมศักดิ์ ชุณหรัศมี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

คำสำคัญ:

รังสีรักษา, โรคมะเร็ง, ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

บทคัดย่อ

                   การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการรังสีรักษาในประเทศไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านผู้ให้บริการหน่วยรังสีรักษาและผู้รับบริการซึ่งหมายถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการบริการรังสีรักษา ทั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ในการกำหนดนโยบายการลงทุนและกระจายบริการเฉพาะนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

                        วิธีการศึกษาประกอบด้วย การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยและมาตรฐานของหน่วยรังสีรักษา การวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิผู้ป่วยที่มารับบริการและลักษณะการให้ บริการรวมทั้งทรัพยากรของหน่วยบริการ 25 แห่งทั่วประเทศ การสุ่มสัมภาษณ์ผู้ป่วยมะเร็ง 1,555 คน ที่เข้ารับบริการรังสีรักษาโดยใช้แบบสอบถามแบบถึงมีโครงสร้าง ในหน่วยรังสีรักษา 20 แห่งที่อนุญาตให้ทำการศึกษาและการสัมภาษณ์เชิงลึกแพทย์รังสีรักษา 12 ราย ศึกษาระหว่างเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2545

                        พบว่า หน่วยรังสีรักษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 9 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งไม่ผ่านเกณฑ์ มาตรฐานขั้นต่ำด้านจำนวนแพทย์รังสีรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการฯ และมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนนักฟิสิกส์การแพทย์ เมื่อนำเกณฑ์ของทั้งสองวิชาชีพมาประเมินหน่วยรังสีรักษาทั้งหมด 25 แห่งพบว่า มีเพียง 8 แห่งหรือร้อยละ 32 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านบุคลากร โดยหน่วยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีความขาดแคลนบุคลากรรุนแรงกว่าสังกัดอื่น ในด้านเครื่องมือรังสีรักษาพบว่าหน่วยรังสีรักษาภาครัฐมีเครื่องมือครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำเกือบทั้งหมด ในขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะขาดเครื่องใส่แร่ เนื่องจากการชะลอตัวในการลงทุนภายหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ในด้านการเข้าถึงบริการพบว่ามีความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่มีหน่วยรังสีรักษาตั้งอยู่และจังหวัดข้างเคียงมีแนวโน้มในการเข้าถึงบริการฯ มากกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในจังหวัดห่างไกล เนื่องจากอุปสรรคทางกายภาพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีหลักประกันสุขภาพ ในขณะที่สภาพส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ามารับบริการฯ จะเป็นผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะค่อนข้างยากจนและไม่ได้ประกอบอาชีพ

                        การสัมภาษณ์แพทย์รังสีรักษาพบว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาและมหาวิทยาลัย จะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์รังสีรักษาและนักฟิสิกส์การแพทย์ โดยต้องเร่งผลิตบุคลากรที่ขาดแคลนเพิ่มขึ้นและป้องกันการสูญเสียบุคลากรจากระบบบริการ ในด้านการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการ ควรมีการกระจายบริการรังสีรักษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อมด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยที่ยากจนเพื่อมารับบริการ การสนับสนุนให้มีมาตรการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและการสืบค้นโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นมากกว่าการให้การรักษาในระยะสุดท้ายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องให้ความสำคัญ

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-14

วิธีการอ้างอิง

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดจากผู้แต่งเรื่องนี้

1 2 > >>