ผลของการดูแลที่บ้านอย่างเป็นระบบโดยการจำลองบ้านเป็นหอผู้ป่วย ต่อผลลัพธ์คุณภาพงานพยาบาลชุมชนในหน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายโรงพยาบาลสงขลา

ผู้แต่ง

  • เพ็ญศิริ อัตถาวงศ์ งานรักษาพยาบาลชุมชน กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสงขลา

คำสำคัญ:

การเยี่ยมบ้าน, พยาบาลชุมชน

บทคัดย่อ

จากสถิติของศูนย์การดูแลต่อเนื่อง กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสงขลาปี พ.ศ.2553-2556 พบว่า ผู้ป่วยติดเตียงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การเยี่ยมบ้านอย่างมีคุณภาพของพยาบาลชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการ ช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลมีความสามารถในการดูแลตนเอง ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น และเพื่อให้การพัฒนารูปแบบการดูแลต่อเนื่องด้วยการเยี่ยมบ้านที่เน้นระบบคุณภาพ เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข งานรักษาพยาบาลชุมชน กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสงขลา จึงได้นำแนวคิดทฤษฎีระบบซึ่งสอดคล้องกับสำนักการพยาบาล มาออกแบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และนำระบบการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยมาปรับใช้ โดยนำร่องในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวัน และใช้กระบวนการทางการพยาบาลมาเป็นเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย ร่วมกับผู้ดูแลและเครือข่ายสุขภาพ เพื่อวางแผนการดูแล ป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำและภาวะแทรกซ้อน ติดตามประเมินผล และช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งต่อผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยใช้แบบประเมินเกณฑ์คุณภาพงานเยี่ยมบ้านของสำนักการพยาบาลที่ผ่านการตรวจสอบความตรงจากผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักการพยาบาล 19 ท่าน กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายโรงพยาบาลสงขลา จำนวน 35 รายผลการศึกษาพบว่า ความครอบคลุมการเยี่ยมบ้านในผู้ป่วยประเภทที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวัน ร้อยละ 100.00 ความพึงพอใจผู้รับบริการเยี่ยมบ้านระดับดี - ดีมาก ร้อยละ 97.14 ความพึงพอใจผู้ให้บริการเยี่ยมบ้านระดับดี - ดีมาก ร้อยละ 94.29 การเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน ร้อยละ 2.86 ผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านสามารถควบคุมภาวะโรคและดูแลตนเองได้ ร้อยละ 97.20 และผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านและจำเป็นต้องส่งต่อ ได้รับการส่งต่อได้ทันเวลา ร้อยละ 100.00 ดังนั้น การดูแลที่บ้านอย่างเป็นระบบโดยการจำลองบ้านเป็นหอผู้ป่วยทำให้เกิดผลลัพธ์คุณภาพงานการพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์คุณภาพของสำนักการพยาบาล เกิดผลดีต่อผู้ป่วย และญาติ หรือผู้ดูแล ทำให้ผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีความพึงพอใจ และในปัจจุบันได้ขยายผลการดูแลที่บ้านดังกล่าวสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเครือข่ายโรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลชุมชนภายในจังหวัดสงขลาได้ใช้เพื่อให้การดำเนินการเยี่ยมบ้านเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-31

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ