การประเมินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครสวรรค์
คำสำคัญ:
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, การประเมินผลโครงการ, นครสวรรค์บทคัดย่อ
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของวัยรุ่นและเด็ก ครอบครัว ชุมชน และประเทศ จังหวัดนครสวรรค์ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินโครงการและสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดนครสวรรค์ ผู้วิจัยใช้รูปแบบการศึกษาวิจัยประเมินโครงการ โดยวิธีการสำรวจ การทบทวนเอกสาร และการสนทนากลุ่ม กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในจังหวัดนครสวรรค์และเอกสารเกี่ยวกับโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครสวรรค์ เก็บข้อมูลโดยการสำรวจ การรวบรวมเอกสาร และการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา คือ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสรุปเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า แม่วัยรุ่นอายุเฉลี่ย 17.6 ปี อายุน้อยที่สุดคืออายุ 12 ปี ครอบครัวมีฐานะยากจนพ่อแม่อายุน้อย และมีปัญหาครอบครัวการมีเพศสัมพันธ์เกิดจากความตั้งใจเมื่อตั้งครรภ์จะไม่ได้ศึกษาต่อเป็นแม่บ้าน รอรายได้จากสามีหรือครอบครัวของตนเองเพื่อใช้ในการเลี้ยงดูบุตรเด็กหญิงวัยรุ่นขาดความรู้ในการคุมกำเนิดและทักษะการป้องกันตัวเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ และมีการท้องซ้ำ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการตาม 9 ภารกิจแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผลลัพธ์ของโครงการพบว่า อัตราการคลอดในมารดาอายุ 15–19 ปีลดลง อัตราคลอดซ้ำเพิ่มขึ้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการคือ ผู้ดำเนินงานหลักและพ่อแม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงวัยรุ่น ปัจจัยที่ต้องพัฒนาคือ ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาแนวทางการดำเนินงานต้องมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์สอดคล้องกับบริบท ความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมของเด็กและชุมชน เพื่อให้วัยรุ่นเกิดทักษะเรื่องเพศที่ดี และมีความเชื่อและทักษะในการคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง มีการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานอยู่เสมอจึงจะทำให้ลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหรืออัตราการคลอดซ้ำในวัยรุ่นได้
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.