การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจในชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) : บทเรียนเขตสุขภาพที่ 2

ผู้แต่ง

  • หยกฟ้า เพ็งเลีย ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2
  • สุขเสริม ทิพย์ปัญญา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2

คำสำคัญ:

ภูมิคุ้มกันทางใจในชุมชน, บทเรียนเขตสุขภาพที่ 2, สถานการณ์การแพร่ระบาด, ไวรัสโคโรนา 2019

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฏการณ์และปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางใจในชุมชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้เกี่ยวข้องในการดูแลประชาชน ในอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 51 คน โดยวิธีการสนทนากลุ่ม 36 คน สัมภาษณ์เชิงลึก 15 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป ประเด็นสนทนากลุ่ม แบบสัมภาษณ์เชิงลึกกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

  ผลการวิจัยพบว่า ภูมิคุ้มกันทางใจคือ ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจและความสามารถในการปรับตัว ปรับใจเพื่อเผชิญภาวะวิกฤติ การเกิดภูมิคุ้มกันทางใจในชุมชนมี 3 ระดับ โดยมีปัจจัยกลไกและมาตรการที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางใจ ดังนี้ 1.ระดับบุคคล พบว่า ปัจจัยเสริมคือการปรับตัว การแสวงหาวิธีดูแลตัวเองตามความเชื่อส่วนบุคคล การปฏิบัติตัวตามมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยการดูแลสุขภาพกายและจิตใจตนเอง ส่งผลให้บุคคลลดความเครียด วิตกกังวล รู้สึกปลอดภัยและสงบ 2.ระดับครอบครัว พบว่า ปัจจัยเสริม ได้แก่ สัมพันธภาพและสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เช่น สมาชิกในครอบครัวมีการสื่อสารเชิงบวก ไม่กล่าวโทษกัน การแสดงความรัก ความเอาใจใส่ ห่วงใยซึ่งกันและกันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครอบครัวตามมาตรการของรัฐ ส่งผลให้ครอบครัวเกิดความไว้วางใจ รู้สึกปลอดภัยและไม่ทอดทิ้งกัน 3.ระดับชุมชน พบว่า ปัจจัยหลัก ได้แก่ ผู้นำที่เข้มแข็งทั้งผู้นำที่เป็นทางการและผู้นำตามธรรมชาติมีบทบาทในการขับเคลื่อนภูมิคุ้มกันทางใจ โดยการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ปัจจัยเสริมมีระบบและกลไกร่วมกันขับเคลื่อนงานผ่านระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ส่งผลให้ชุมชนเกิดความรู้สึกปลอดภัยมีความสงบ มีความหวังเกิดการยอมรับและให้โอกาสกลุ่มเสี่ยงและครอบครัวในชุมชน ทั้งนี้การเกิดภูมิคุ้มกันทางใจทุกระดับล้วนมีปัจจัยกระตุ้นคือการรับรู้ความรุนแรงและผลกระทบของสถานการณ์โรคโควิด-19

เอกสารอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต. (2563). รายงานสรุปผลการประเมินสุขภาพจิต Mental health Check In ปี 2563 ระดับประเทศ. นนทบุรี:กระทรวงสาธารณสุข.

กรมสุขภาพจิต. (2563). แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) .(Combat 4th wave of COVID -19). นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมสุขภาพจิต.(2563). แผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) (Combat 4th wave of COVID -19). นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.

กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต. (2563). แนวทางการสร้างวัคซีนใจในชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19. กรุงเทพฯ : บียอนด์ พับลิสชิ่ง จำกัด.

กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต (2563). เสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชน คลังความรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต. สืบค้น 10 สิงหาคม 2563. จาก : https://dmh-elibrary.org/items/show/1327

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ. (2563). มาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. นนทบุรี: กรมควบคุมโรค.

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2. (2563). รายงานสรุปผลการประเมินสุขภาพจิต Mental health Check In ปี 2563 เขตสุขภาพที่ 2. พิษณุโลก: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 พิษณุโลก.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-07-02