จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงาน

Publication Ethics - จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ)

ประกาศศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ เรื่อง  กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติ จริยธรรมและจรรยาบรรณการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการในวารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ)

วารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) Primary Health Care Journal (Northern Edition) มีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาผลงานวิชาการ ผ่านวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ และองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการ คือ การดำเนินงานวารสารวิชาการที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณ (Publication Ethics) ดังนั้น วารสารสาธารณสุขมูลฐาน (ภาคเหนือ) จึงพิจารณาองค์ประกอบด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณให้สอดคล้องกับการประเมินด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูลศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index: TCI) โดยกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติ จริยธรรมและจรรยาบรรณการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการ ในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการวารสาร

  1. บรรณาธิการ มีหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ และคัดเลือกบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร โดยพิจารณาให้เนื้อหาบทความสอดคล้องกับนโยบายของวารสาร
  2. บรรณาธิการ มีการตรวจสอบความถูกต้องและคุณภาพของผลงานทางวิชาการก่อนการตีพิมพ์
  3. บรรณาธิการ ต้องดำเนินงานวารสารให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสาร ปรับปรุง และพัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
  4. บรรณาธิการ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและการมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ และ/หรือ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม (Article processing charges: APC) สำหรับการดำเนินการแบบเร่งด่วน (Fast-track) เป็นต้น
  5. บรรณาธิการ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและการมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ และสมาชิกคณะทำงานกองบรรณาธิการ ในการนำบทความวารสารไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ หรือนำผลงานวิชาการมาเป็นของตนเอง
  6. บรรณาธิการ ต้องใช้เหตุผลทางวิชาการ เพื่อพิจารณาบทความโดยไม่มีอคติต่อบทความ และผู้นิพนธ์ในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์
  7. บรรณาธิการ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ปรากฏในผังการทำงานที่ทางวารสารกำหนด
  8. บรรณาธิการ ต้องไม่ตัดทอนหรือแก้ไขเนื้อหาในบทความ ผลงานวิชาการ รวมถึงผลการประเมินของผู้ประเมินบทความ (Peer Reviewers)

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์

  1. ผู้นิพนธ์ ต้องมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณในการดำเนินงานวิจัย และการเขียนรายงานผลการวิจัย
  2. ผู้นิพนธ์ ต้องรับรองว่าผลงานที่เขียนขึ้นได้มาจากข้อเท็จจริงจากการศึกษา ไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ
  3. ผู้นิพนธ์ ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นที่ปรากฏอยู่ในงานของตน
  4. ผู้นิพนธ์ ต้องไม่คัดลอกผลงานของบุคคลอื่น
  5. ผู้นิพนธ์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลงานของตน และรับรองว่าผลงานไม่เคยถูกตีพิมพ์หรือกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ที่ใด
  6. ผู้นิพนธ์ ต้องระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของผลงานร่วมทุกคน ระบุบทบาทหน้าที่และสัดส่วนของความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในกรณีที่ไม่ได้เขียนคนเดียว
  7. ผู้นิพนธ์ ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้
  8. ผู้นิพนธ์ ต้องการยกเลิกหรือถอดถอนบทความหลังจากที่ผู้ประเมินบทความ (Peer Reviewers) พิจารณาแล้ว ผู้นิพนธ์จะต้องชำระค่าประเมินบทความ จำนวน 3,000 บาท
  9. ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ทำผิดข้อกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 2, 3, 4 และ 5 วารสารจะตัดสิทธิ์การตีพิมพ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี และวารสารจะแจ้งหน่วยงาน ที่ผู้นิพนธ์สังกัดหรือผู้นิพนธ์แล้วแต่กรณี

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Peer Reviewers)

  1. ผู้ประเมินบทความ ต้องรักษาความลับของบทความที่ส่งมาเพื่อขอรับการประเมิน แก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
  2. ผู้ประเมินบทความ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นอย่างอิสระได้ โดยผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
  3. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณา จากคุณภาพของบทความตามหลักวิชาการสากล ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
  4. หากผู้ประเมินบทความ พบว่า บทความที่ประเมินมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีความเหมือนหรือความซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย

จริยธรรมการทำวิจัยในมนุษย์

  1. เคารพในการขอความยินยอม โดยให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและให้อาสาสมัครตัดสินใจ อย่างอิสระปราศจากการข่มขู่ บังคับ หรือให้สินจ้างรางวัล (Respect for free and informed consent และ Respect to autonomy of decision making)
  2. เคารพในความเป็นส่วนตัวของอาสาสมัคร (Respect for privacy) ความหมายของ Privacy คือตัวบุคคล (Person) ความเป็นส่วนตัว สิทธิส่วนบุคคล พฤติกรรม ส่วนตัวพฤติกรรมปกปิด การเคารพในความเป็นส่วนตัวของอาสาสมัครทำโดยจัดสถานที่ในการขอความยินยอมและการซักประวัติตรวจร่างกาย การไม่มีป้ายระบุชื่อคลินิก เช่น “คลินิกโรคเอดส์” “คลินิกยาเสพติด”
  3. เคารพในการเก็บรักษาความลับของข้อมูลส่วนตัวของอาสาสมัคร (Respect for confidentiality)ความหมายของ Confidentiality คือข้อมูล (Data) เป็นวิธีการรักษาความลับของข้อมูล ส่วนตัวของอาสาสมัครโดยมีข้อจำกัด ข้อมูลเหล่านั้น ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูล (Case report form) ใบยินยอม (Consent form) การบันทึกเสียงหรือภาพ (Tape, Video and photo) มาตรการรักษาความลับ เช่น ใช้รหัส เก็บในตู้มีกุญแจล็อค (Locked cabinet) เก็บในคอมพิวเตอร์ (Computer) ที่มีรหัสผ่าน (Password) ข้อมูลส่งทางเมลอิเล็คโทรนิกส์ (E-mail) มีการทำให้เป็นรหัส (Encrypted)
  4. เคารพในความเป็นผู้อ่อนด้อย เปราะบาง (Respect for vulnerable persons) ความหมายของผู้อ่อนด้อย เปราะบาง คือ บุคคลที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยที่ได้รับ ไม่สามารถตัดสินใจได้โดยอิสระ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือทางจิต ผู้ป่วยโรคเอดส์ (HIV/AIDS) ผู้ป่วยหมดสติ (Comatose) ผู้ป่วยพิการ (Handicapped) นักโทษ (Prisoners) นักเรียนนิสิต นักศึกษา (Students) ทหาร (Soldiers) กลุ่มคนที่มีพลังอำนาจน้อย (Marginalized people) เช่น ผู้อพยพ (Immigrants) ชนกลุ่มน้อย (Ethnic minority) กลุ่มเบี่ยงเบนทางเพศ หรือกลุ่มรักร่วมเพศ (Homosexuality) กลุ่มเปราะบางทางสังคม (Socially vulnerable) เช่น ผู้ให้บริการทางเพศ (Sex workers) ผู้ติดยาเสพติด (Drug addicts)
  5. CIOMS Guideline 13 และ 14 ระบุว่าการทำวิจัยในกลุ่มนี้ต้องมีเหตุผลสมควร (Justification) ต้องขออนุญาตและมีลายเซ็นของผู้แทนที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการขออนุญาตบุคคลผู้นั้นด้วย การทำวิจัยในเด็ก ไม่สมควรทำการศึกษาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ยกเว้นอาสาสมัครเด็กกำพร้าอาจจะได้รับประโยชน์โดยตรง หรือผลการวิจัยอาจจะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเด็กกำพร้าคนอื่น ๆ และอนุโลมให้ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นผู้ให้ความยินยอม ทั้งนี้ ต้องดำเนินการขอ Assent ตามข้อกำหนดเช่นกัน

 ประกาศ  ณ  วันที่  3  ตุลาคม  พ.ศ. 2566