การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลระบบการเฝ้าระวังสัญญาณเตือน เข้าสู่ภาวะวิกฤตในผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลสกลนคร
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติและศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลระบบการเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤตในผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลสกลนคร กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพ 11 คนและผู้ป่วยเด็ก 42 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบบันทึกการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ แบบบันทึกการทบทวนการดูแลผู้ป่วย แบบสอบถามความเป็นไปได้ของแนวปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของซูคัพ 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะวิเคราะห์ปัญหาจาการปฏิบัติงานในคลินิก ความรู้ และบริบทที่เกี่ยวข้อง 2) ระยะค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องและการยกร่างแนวปฏิบัติ 3) ระยะพัฒนาแนวปฏิบัติและนำไปทดลองใช้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย( x ̅ ) ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา ระยะที่ 1 พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงต้องช่วยชีวิตที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าผู้ป่วยเสียชีวิตนอกหอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก (PICU) และการย้ายกลับ PICU ใน 72 ชั่วโมง ระยะที่ 2 ยกร่างแนวปฏิบัติการติดตามอาการผู้ป่วยด้วยแบบประเมินสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤตในผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลสกลนคร (SPEWS) และการรายงานแพทย์ตามแนวทางการสื่อสารแบบเอสบา (SBAR) ระยะที่ 3 ความเห็นของพยาบาลต่อความเป็นไปได้ในการใช้ SPEWS โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( x ̅ = 3.86, S.D. = 0.19) การศึกษานำร่องพบว่า พยาบาลสามารถประเมินอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย และไม่พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยเด็กมีอาการทรุดลงที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าและรักษาล่าช้าขณะอยู่ใน PICU ได้แก่ ภาวะหัวใจหยุดเต้นและช่วยชีวิต ภาวะหายใจล้มเหลวและใส่ท่อช่วยหายใจ ภาวะช็อค และอุบัติการณ์ย้ายกลับเข้ารักษาใน PICU ใน 72 ชั่วโมง
คำสำคัญ: สัญญาณเตือนก่อนวิกฤต ผู้ป่วยเด็ก ภาวะวิกฤต