ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพกับการสูญเสียฟัน ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของการสูญเสียฟันและ ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพกับการสูญเสียฟันของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในจังหวัดสกลนคร จำนวน 386 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เก็บข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน คือ ไคว์แสคว์และสมการถดถอยพหุคูณลอจิสติก เพื่ออธิบายความสัมพันธ์และค่า AdjustedOdd ratio (Adj. OR) และช่วงค่าความเชื่อมั่น (95% CI)
ผลวิจัยพบว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตอบแบบสัมภาษณ์และตรวจสุขภาพช่องปาก จำนวน 379 คน คิดเป็นร้อยละ 98.19 พบความชุกของการสูญเสียฟันขณะเป็นเบาหวาน 209 คน คิดเป็นร้อยละ 55.15 (95%CI = 50.11–60.17) ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียฟันของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพระดับต่ำ (Adj. OR = 3.68, 95%CI = 1.91–7.06, p < 0.001) การศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า (Adj. OR = 3.56, 95%CI = 1.98–6.41, p < 0.001) ระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป (Adj. OR = 3.77, 95%CI = 2.26–6.30, p < 0.001) การพบทันตบุคลากรน้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง (Adj. OR = 3.82, 95%CI = 2.99–5.31, p < 0.001) และผู้ป่วยเบาหวานที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ (Adj. OR = 5.31, 95%CI = 2.81–10.03, p < 0.001)
สรุป ความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพ ระดับการศึกษา ระยะเวลาการเป็นเบาหวาน การเข้ารับบริการทันตกรรมและพฤติกรรมการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียฟันในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
คำสำคัญ: การสูญเสียฟัน ความรอบรู้ด้านทันตสุขภาพ โรคเบาหวานชนิดที่ 2