ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานของประชากร อายุ 35 ปีขึ้นไป ในศูนย์บริการสาธารณสุขนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงสำรวจแบบตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการมาตรวจ คัดกรองโรคเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างคือ ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป จำนวน 251 คน จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยการจับสลากรายชื่อจากประชากรที่ต้องรับการคัดกรองโรคเบาหวานในปีงบประมาณ 2563 ในแต่ละชุมชนจาก 8 ชุมชน เขตรับผิดชอบของศูนย์บริการสาธารณสุขนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้แบบสอบถาม ตั้งแต่เดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ศึกษากับพฤติกรรมการมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานด้วยการทดสอบไคสแควร์ ผลการศึกษา พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.8 ที่มารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในปีงบประมาณ 2563 ปัจจัยที่พบว่า มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ปัจจัยลักษณะบุคคล ได้แก่ เพศ (p = 0.010) รายได้ (p = 0.036) การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน (p = 0.032) การรับรู้ถึงประโยชน์ในการมาคัดกรองโรคเบาหวาน (p = 0.030) การรับรู้โดยรวม (p = 0.027) เหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานมากที่สุดคือ เคยเห็นหรือรู้จักคนเป็นโรคเบาหวาน (ร้อยละ 79.1) รองลงมาคือ จากการประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (ร้อยละ 39.1) จากผลการศึกษานี้ ควรดำเนินการส่งเสริมการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น กิจกรรมดำเนินงานควรเน้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลดีของการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน สร้างความมั่นใจของประชากรกลุ่มเป้าหมายเพื่อกำจัดอุปสรรคตามการรับรู้ของการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน เน้นการประชาสัมพันธ์และการจัดบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้น คำสำคัญ: เบาหวาน พฤติกรรมการมาตรวจคัดกรอง