การเปรียบเทียบปริมาณรังสีในปริมาตรเป้าหมายของการวางแผนการรักษาและ อวัยวะเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเทคนิคการฉายรังสีแบบสามมิติ และปรับความเข้ม ในโรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • พัฒนพงษ์ แสนชนม์ โรงพยาบาลสกลนคร
  • เกียรติศักดิ์ พรหมเสนสา โรงพยาบาลสกลนคร
  • ศรายุทธ ครโสภา โรงพยาบาลสกลนคร
  • วิมลมาศ ทองงาม โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

           การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบปริมาณรังสีในปริมาตรเป้าหมายของการวางแผนการรักษา (Planning target volume: PTV) และอวัยวะเสี่ยง (Organs at risk: OARs) ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยเทคนิคการฉายรังสีแบบสามมิติ (3DCRT) และแบบปรับความเข้ม (IMRT) กลุ่มตัวอย่างคือ แผนการรักษา 3DCRTและ IMRT อย่างละ 10 แผน ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงสูง จำนวน 5 ราย ทำการสร้างแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงสูงด้วยเทคนิค 3DCRT และ IMRT โดยกำหนดค่าปริมาณรังสีระหว่าง 76 ถึง 78 เกรย์ ทำการเปรียบเทียบค่าดัชนีความเข้ารูป (Conformity index: CI) และค่าพารามิเตอร์ปริมาณรังสีเชิงปริมาตรใน PTV และ OARs จากแผนการรักษาทั้ง 2 เทคนิค

          ผลการศึกษาพบว่าค่า CI ของ PTV ที่ได้จากแผนการรักษาทั้ง 2 เทคนิค มีค่าอยู่ระหว่าง 0.99 ถึง 1.48 สำหรับค่าปริมาณรังสีที่มีค่าต่ำสุดที่ครอบคลุมปริมาตรของ PTV (D95) ทั้ง 2 เทคนิคมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 95 เมื่อพิจารณาปริมาตรของ PTV ที่ได้รับ ปริมาณรังสีสูงเกินกว่าที่กำหนดร้อยละ 110 (V110) ของปริมาณ รังสีที่กำหนด เทคนิค 3DCRT มีค่าสูงกว่าเทคนิค IMRT อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) เมื่อพิจารณาการได้รับปริมาณรังสี OARs ในแผนการรักษาแบบ 3DCRT OARs ได้รับปริมาณรังสีเกินเกณฑ์ที่กำหนดทุกแผนการรักษา ในขณะที่ IMRT OARs ได้รับปริมาณรังสีผ่านตามเกณฑ์ของ Radiation Therapy Oncology Group(RTOG)

          การฉายรังสีแบบ IMRT สามารถเพิ่มปริมาณรังสีแก่ PTV ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากให้ได้รับสูงขึ้นในขณะที่ OARs ได้รับปริมาณรังสีลดลง ส่งผลให้การเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีในระหว่างและหลังการฉายรังสีลดลง ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

          คำสำคัญ: เทคนิคการฉายรังสีแบบสามมิติ เทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม มะเร็งต่อมลูกหมาก

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-02-14