การพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่พบเอสทียกสูง จังหวัดสกลนคร

ผู้แต่ง

  • ขชล ศรียายาง โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

          การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่พบเอสทียกสูง (Non ST Elevation Myocardial Infarction: NSTEMI)จังหวัดสกลนคร และศึกษาผลลัพธ์ภายหลังการพัฒนาเครือข่าย เก็บข้อมูลโดยการประชุมกลุ่ม การสังเกตแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบเก็บข้อมูลผู้ป่วยประยุกต์ใช้แบบ Thai ACS Registry แนวทาการวิเคราะห์ SWOT และแนวปฏิบัติทางคลินิกผู้ป่วย NSTEMI ผู้ให้ข้อมูลเลือกแบบเฉพาะเจาะจง คือ กลุ่มพัฒนาเครือข่ายและกลุ่มประเมินผลการพัฒนา ดำเนินการวิจัย ระยะที่ 1 ขั้นเตรียมการ โดยกำหนดนโยบายการพัฒนาเครือข่าย กลยุทธ์เครือข่าย และวิเคราะห์และวางแผนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 2 การพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย NSTEMI และระยะที่ 3 การประเมินผลลัพธ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

          ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย NSTEMI จังหวัดสกลนคร ตามแผนยุทธศาสตร์ 3ยุทธศาสตร์ คือ “รู้เร็ว–เรียกเร็ว–รับเร็ว–มาเร็ว–รักษาเร็ว” “ทีมเก่ง–หัวใจแกร่ง–พร้อมแบ่งปัน” และ “บริการแบบครบวงจรไร้รอยต่อ” ทำให้เกิดเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย NSTEMI แบบครบวงจรไร้รอยต่อ ประกอบด้วย 1) ระบบการดูแลผู้ป่วยตามแนวปฏิบัติทางคลินิกของเครือข่ายจังหวัดแบบ “one protocol one province” 2) ระบบบริการครบวงจร ระบบการตรวจคัดกรอง การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเครือข่ายทุกระยะ จากก่อนมาถึงโรงพยาบาลจนถึงภายหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้เข้าถึงการสวนหัวใจอย่างเร่งด่วนตามระดับความรุนแรงก่อนการจำหน่ายทุกราย และได้รับการติดตามดูแลต่อเนื่องอย่างเหมาะสมตามประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและป้องกันการกลับเป็นซ้ำโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ 3) ระบบขอคำปรึกษาจากอายุรแพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลแม่ข่ายที่สามารถเข้าถึงง่ายตลอด 24 ชั่วโมง 4) ความพร้อมด้านยา อุปกรณ์ เครื่องมือ และมีระบบหมุนเวียนใช้ในจังหวัด 5) การพัฒนาสมรรถนะทีมในการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องโดยใช้การเรียนรู้เป็นทีม และโครงการหัวใจสัญจรไป ยังโรงพยาบาลลูกข่าย เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากร ประเมินความพร้อมในการให้บริการ และเสริมพลังเครือข่าย6) ระบบพยาบาลประสานการดูแลผู้ป่วย และผลลัพธ์ทางคลินิก พบว่า อัตราการเข้าถึงการรักษาแบบเฉพาะด้วยการเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 90.55 อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลงจากร้อยละ 12.02 ± 6.46 เป็นร้อยละ 5.3 ± 4.17 อัตราการเสียชีวิตใน 30 วัน ลดลงจากร้อยละ 6.46 ± 8.72 เป็นร้อยละ 3.85 ± 4.27 ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์การพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น จึงควรขยายผลในเขตบริการสุขภาพที่ 8 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาผู้ป่วย NSTEMI อย่างทั่วถึง
           คำสำคัญ: การพัฒนาเครือข่าย โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดไม่พบเอสทียกสูง

ประวัติผู้แต่ง

ขชล ศรียายาง, โรงพยาบาลสกลนคร

นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-02-14