การพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีภาวะหายใจล้มเหลว ตามทฤษฎีการปรับตัวของรอย: กรณีศึกษา 2 ราย
บทคัดย่อ
ปอดอักเสบเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สำคัญในผู้ใหญ่ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 3 ของกลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสกลนคร ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้แก่ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ภาวะการหายใจล้มเหลว ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ กรณีศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีการปรับตัวของรอยมาใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีภาวะหายใจล้มเหลว โดยศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบและมีภาวะหายใจล้มเหลว 2 ราย ที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 1 โรงพยาบาลสกลนคร โดยการศึกษาประวัติผู้ป่วย การรักษาพยาบาล รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย ญาติ และเวชระเบียน การกำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลโดยใช้ทฤษฎีการปรับตัวของรอย วางแผนปฏิบัติการพยาบาล สรุปและประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล
ผลการศึกษา ผู้ป่วยทั้ง 2 รายเป็นเพศชาย อายุ 60 ปี และ 61 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคปอดอักเสบที่มีภาวะหายใจล้มเหลว มาด้วยอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบ เป็นก่อนมาโรงพยาบาล 2–3 วัน รับเข้ารักษาที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย1 ต่อมาผู้ป่วยทั้ง 2 ราย หายใจหอบมากขึ้น ร่วมกับระดับออกซิเจนลดลง จึงได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติที่ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษารีบด่วน ตามทฤษฎีการปรับตัวของรอย โรคปอดอักเสบที่มีภาวะหายใจล้มเหลว เป็นสิ่งเร้าตรง ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย มีการปรับตัวทั้ง 4 ด้าน ดังนี้ 1) การปรับตัวด้านร่างกาย ยังมีอาการเหนื่อยเล็กน้อย แต่สามารถปฏิบัติกิจกรรมได้เอง 2) ด้านอัตมโนทัศน์ ใช้การปรับวิธีคิดในการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เป็นอยู่ 3) ด้านบทบาทหน้าที่ สามารถดูแลตนเองและบุคคลในครอบครัวได้ และ 4) ด้านพึ่งพาระหว่างกัน โดยได้รับความรัก ความห่วงใยและกำลังใจ มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลในครอบครัว สรุปได้ว่า พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยต้องมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยได้รับการดูแลจนพ้นภาวะวิกฤต รวมทั้งมีบทบาทในการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยและเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถปรับตัวกับภาวะวิกฤติของโรคได้
คำสำคัญ: โรคปอดอักเสบ ภาวะหายใจล้มเหลว การพยาบาล ทฤษฎีการปรับตัวของรอย