ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
บทคัดย่อ
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) เป็นโรคติดเชื้อสำคัญของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนได้ การวิจัยภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนในเด็ก เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามในผู้ปกครองเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี มารับบริการที่คลินิกหมอครอบครัว ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองร่มเกล้า โรงพยาบาลสกลนคร จำานวน 150 คน ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับวัคซีนกับปัจจัยต่างๆด้วยสถิติถดถอยพหุลอจิสติกส์
ผลการวิจัยพบว่า ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร้อยละ 36.7 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้แก่ ประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ของผู้ปกครอง (Adj.OR = 7.40, 95% CI = 2.60–21.40) ประวัติการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ของเด็ก (Adj.OR = 29.48, 95% CI = 2.07–420.34) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กระดับสูง (Adj.OR = 17.09, 95% CI = 3.05–95.72) และการรับรู้ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ระดับสูง (Adj.OR = 4.99, 95% CI = 1.59–15.68) สรุปว่า ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ จึงควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองรับรู้ถึงโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคและประโยชน์ของการฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้เด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น
คำสำคัญ: เด็ก ไข้หวัดใหญ่ วัคซีน แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ