ความสัมพันธ์ระหว่างโรคร่วม การใช้ยาร่วมกันหลายขนานและความรุนแรง ของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยากับผลลัพธ์การจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉิน ในผู้ป่วยสูงอาย

ผู้แต่ง

  • ไกรศร จันทร์นฤมิตร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์

บทคัดย่อ

          ในปัจจุบันผู้ป่วยสูงอายุมารับบริการที่แผนกฉุกเฉินมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีภาวะอาการของโรคที่ซับซ้อนรุนแรง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความพิการและการเสียชีวิต ดังนั้นการประเมินสภาพผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรคร่วม การใช้ยาร่วมกันหลายขนาน และความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยากับผลลัพธ์การจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉิน รูปแบบการวิจัยคือบรรยายเชิงหาความสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย อายุ 65 ปีขึ้นไป ที่เข้ามารับบริการที่แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคกลาง จำนวน 300 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกการจำแนกระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา แบบบันทึกโรคร่วม แบบบันทึกการใช้ยาร่วมกันหลายขนาน และแบบประเมินผลลัพธ์การจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และการวิเคราะห์ Spearman’s rankcorrelation

          ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 65–99 ปี อายุเฉลี่ย 77.4 ปี (S.D. = 7.7 ปี) เพศหญิง ร้อยละ 53.7 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 98.7 โดยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 78.6 มีการใช้ยาร่วมกันหลายขนาน 5 ชนิดขึ้นไป ร้อยละ 52.3 คะแนนความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาแรกรับระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ร้อยละ 40.4 ผลลัพธ์การจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉินไปหอผู้ป่วยสามัญ ร้อยละ 54.7 นอนหอผู้ป่วยวิกฤตร้อยละ 2 คะแนนความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยามีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลลัพธ์การจำหน่ายออกจากห้องฉุกเฉินในระดับปานกลาง (r = 0.55, p < 0.001) การใช้ยาร่วมกันหลายขนานและการมีโรคร่วมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับกับผลลัพธ์การจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉินในระดับต่ำ (r = 0.34, p < 0.001, r = 0.35, p < 0.001 ตามลำดับ)
         คำสำคัญ: โรคร่วมการใช้ยาร่วมกันหลายขนานผู้ป่วยสูงอายุความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา

ประวัติผู้แต่ง

ไกรศร จันทร์นฤมิตร, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์

อาจารย์พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-26