ความสอดคล้องระหว่างความต้องการของผู้รับบริการกับการให้บริการทันตกรรม ในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสกลนคร

ผู้แต่ง

  • สุทธา ภัทรสุภฤกษ์ โรงพยาบาลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

บทคัดย่อ

          การศึกษาชนิดภาคตัดขวางมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสอดคล้องระหว่างความต้องการของผู้รับบริการ กับการบริการทางทันตกรรมที่ได้รับจากทันตบุคลากร และสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านเพศ อายุ และสิทธิการรักษาพยาบาลกับความต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมป้องกันของผู้รับบริการชาวไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่รับบริการ ณ โรงพยาบาลกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ประเมินค่าความความสอดคล้องด้วย Percent concordance และ Kappa statistic และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่สนใจกับความต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมป้องกันด้วยสถิติ Chi–square test ผู้รับบริการทั้งหมด 711 ราย เข้ารับบริการทันตกรรมจำนวน 863 ครั้ง มีอายุระหว่าง 18–89 ปี อายุเฉลี่ย 45.6 ± 16.1 ปี ผู้รับบริการร้อยละ 5.6 ต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมเพื่อการป้องกัน เช่น ต้องการตรวจฟันประจำปี ต้องการเข้ารับการขัดฟัน ต้องการรับฟลูออไรด์เฉพาะที่ เมื่อพิจารณาการบริการทันตกรรมที่ได้รับ

          ผู้รับบริการร้อยละ 1.7 ได้รับบริการทันตกรรมป้องกัน เช่น ขัดฟัน รับฟลูออไรด์ ตรวจฟันและได้รับทันตสุขศึกษา ผลการประเมินความสอดคล้องระหว่างความต้องการของผู้รับบริการกับการบริการทางทันตกรรมที่ได้รับในเชิงป้องกันพบว่า Percent concordance = 31.25 และ Kappa = 0.462 (p < 0.001) ปัจจัยอายุ และสิทธิการรักษาพยาบาลมีความสัมพันธ์กับความต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมป้องกัน โดยกลุ่มอายุ 18–59 ปี ต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมป้องกันมากกว่ากลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.004) และผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมต้องการรับบริการทันตกรรมป้องกันมากกว่าผู้ที่มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001)

         คำสำคัญ: การบริการด้านสุขภาพ ทันตกรรม สาธารณสุข

ประวัติผู้แต่ง

สุทธา ภัทรสุภฤกษ์, โรงพยาบาลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-27