การพยาบาลผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในภาวะไตวายเฉียบพลัน : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • รุ่งรักษ์ ภิรมย์ลาภ โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

           ไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury, AKI) เกิดจากการสูญเสียความสามารถของไตอย่างเฉียบพลัน ในการกำจัดของเสีย รวมทั้งความสามารถในการควบคุมน้ำและเกลือแร่ในเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมักได้ผลลัพธ์ที่ดี ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น กรณีศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีแบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนในการพยาบาลผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในภาวะไตวายเฉียบพลัน โดยนำเสนอกรณีศึกษา 2 ราย ที่มาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ณ โรงพยาบาลสกลนคร ระหว่างเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2563

           กรณีศึกษาที่ 1 หญิงอายุ 87 ปี มีประวัติเหนื่อย เพลีย ใจสั่น รับประทานอาหารได้น้อย โรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงและเบาหวาน มีภาวะโปแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) และภาวะเลือดเป็นกรด(Acidosis) ร่วมกับไตวายเฉียบพลัน ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 3 ครั้ง พบว่า ไตฟื้น ปัสสาวะออกดีวันละ 1,000–2,000 มิลลิลิตร พักรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 วัน

          กรณีศึกษาที่ 2 หญิงอายุ 80 ปี มีประวัติเหนื่อย อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย โรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน มีภาวะเกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล เลือดเป็นกรด และน้ำเกิน ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 4 ครั้ง พบว่า ไตฟื้น ปัสสาวะออกดี วันละ 2,000–3,000 มิลลิลิตร พักรักษาตัวในโรงพยาบาล11 วัน ผู้ป่วยกรณีศึกษาทั้ง 2 ราย ได้รับการพยาบาลโดยอาศัย 11 แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนเป็นแบบแผนสำคัญในการประเมินปัญหาสุขภาพ ร่วมกับการรักษาของอายุรแพทย์โรคไตและอายุรแพทย์ทั่วไป ในการดูแลรักษาทุกระยะ ส่งผลให้ผู้ป่วยไตฟื้นจนพ้นภาวะวิกฤต

          คำสำคัญ: การพยาบาล ภาวะไตวายเฉียบพลัน การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน

ประวัติผู้แต่ง

รุ่งรักษ์ ภิรมย์ลาภ, โรงพยาบาลสกลนคร

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลตรวจรักษาพิเศษ โรงพยาบาลสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-27