การผ่าตัดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดเฉียบพลันและการใช้เครื่องพยุง การทำงานของหัวใจและปอด: กรณีศึกษาและการทบทวนวรรณกรรม

ผู้แต่ง

  • ชนกพร ดาววัน โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

           โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดเฉียบพลัน (acute pulmonary embolism) เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบ ได้บ่อย อุบัติการณ์ประมาณ 39–115 คน ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงตั้งแต่ร้อยละ 15–80 ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันท่วงที รายงานนี้นำเสนอผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 48 ปี รูปร่างท้วม ภายหลังผ่าตัดไส้ติ่ง 5 วัน พบมีหายใจหอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดต่ำ และมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ได้รับการฟื้นฟูกู้ชีวิต สุดท้ายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น massive pulmonary embolism ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด (surgical pulmonary embolectomy) โดยมีการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมที่โรงพยาบาลสกลนคร หลังผ่าตัด มีภาวะหัวใจห้องล่างขวาบีบตัวผิดปกติ ไม่สามารถถอดเครื่องปอดหัวใจเทียมได้ จึงได้ใส่เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจเทียม (veno–arterial extracorporeal membrane oxygenator; VA–ECMO) เป็นเวลา 5 วัน ผู้ป่วยรอดชีวิตและสามารถกลับบ้านได้ ใช้เวลาในการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 26 วัน ในปัจจุบัน การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดจำเป็นต้องใช้ทั้งอาการทางคลินิกการซักประวัติ การตรวจร่างกายที่สามารถบ่งบอกถึงความน่าจะเป็นของการเกิดโรค (pretest probability) ร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ส่วนการรักษามาตรฐาน นอกจากการให้ยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านลิ่มเลือดแล้ว การผ่าตัดเพื่อเอาลิ่มเลือดในหลอดเลือดปอดในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก็มีบทบาทในการรักษามากขึ้น เพิ่มอัตราการรอดชีวิตและลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้ยาละลายลิ่มเลือด อาจจะร่วมกับการใส่ VA–ECMO ซึ่งพิจารณาใส่ได้ทั้งก่อนหรือหลังผ่าตัด

           คำสำคัญ: โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดเฉียบพลัน การผ่าตัดลิ่มเลือดในหลอดเลือดปอด การใส่เครื่องพยุงปอดและหัวใจเทียม

ประวัติผู้แต่ง

ชนกพร ดาววัน, โรงพยาบาลสกลนคร

นายแพทย์ชำนาญการ หน่วยศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-11-08