ผลของโปรแกรมลดน้ำหนักยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อน้ำหนักตัวของวัยรุ่นน้ำหนักเกิน ในจังหวัดตรัง
บทคัดย่อ
การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมลดน้ำหนักระหว่างกลุ่มที่ลดน้ำหนักตามปกติกับกลุ่มที่ใช้โปรแกรมลดน้ำหนักยุคไทยแลนด์4.0 ของวัยรุ่นน้ำหนักเกินในจังหวัดตรังคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย กลุ่มทดลอง 15 คน และกลุ่มควบคุม 15 คน จากนักเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุและโรงเรียนวัดควนวิเศษมูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 โปรแกรมการลดน้ำหนักเวลา 4 สัปดาห์ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1) กิจกรรมให้ความรู้เรื่องน้ำหนักเกิน 2) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามแนวคิดของ Kolb โดยผ่านไลน์ 3) ชมสื่อวีดีทัศน์เรื่องเด็กอ้วน 4) ทำพันธะสัญญาเดิน 3,000 ก้าว/วัน ใช้แอปพลิเคชั่นนับก้าว FITANDFIRM 5) ถ่ายรูปอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อ และรายงานผลการเดิน และน้ำหนักในแต่ละวัน ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ 6) คำนวณพลังงานอาหารที่รับประทานเข้าไปใช้แอปพลิเคชันแสดงแคลอรี่อาหาร Calories Diary และ 7) ติดตามสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เสริมกำลังใจและซักถามปัญหาอุปสรรคโดยใช้วิธีสะท้อนคิดผ่าน Google Meet วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป นำเสนอค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และเปรียบเทียบน้ำหนักก่อนและหลังใช้โปรแกรมด้วยสถิติ independent t–test
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ13–14 ปี น้ำหนักตัวอยู่ในช่วง 50–55 กิโลกรัม ดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 25.6–26.0 กิโลกรัม/เมตร2 หลังการใช้โปรแกรมลดน้ำหนักพบว่า กลุ่มทดลองมีน้ำหนักลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.042) และมีพฤติกรรมการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ให้พลังงานไม่เกิน 1,700 กิโลแคลลอรี่/วัน มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001และ p = 0.001 ตามลำดับ) ดังนั้น การใช้โปรแกรมการลดน้ำหนักยุคไทยแลนด์ 4.0 กับวัยรุ่นน้ำหนักเกินจะช่วยให้เกิดแรงจูงใจจากกลุ่มเพื่อน เกิดความต่อเนื่อง จึงลดน้ำหนักได้ผลมากยิ่งขึ้น
คำสำคัญ: โปรแกรมการลดน้ำหนักยุคไทยแลนด์ 4.0 วัยรุ่น น้ำหนักเกิน