ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบวิธีธรรมชาติ และแบบใช้สิ่งกีดขวางและฮอร์โมนของนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงสารวจมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์ต่อการรับรู้การคุมกว่าเนิดชั่วคราวของนักศึกษาพยาบาลมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาพยาบาลที่ยังไม่ได้ ศึกษาเนื้อหาการคุมกำเนิดในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ จำนวน 94 ราย คัดเลือกโดยการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามปัจจัยสิ่งแวดล้อมด้านช่องทางการรับรู้การคุมกำเนิดและด้านลักษณะข้อมูลการรับรู้การคุมกำเนิด และแบบสอบถามการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราว ซึ่งตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยหาค่าความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ได้เท่ากับ 0.67 0.67 และ 0.67 ค่าดัชนี ความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 0.96 0.93 และ 0.83 ตามลำดับ และค่าความเชื่อมั่นโดยวิธีการหาสัมประสิทธ์แอลฟาของครอนบาคมากกว่า 0.7 เก็บรวบรวมข้อมูลวันที่ 1 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสิ่งแวดล้อมกับการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยสถิติสหสัมพันธ์ และการถดถอยเชิงพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมด้านช่องทางการรับรู้การคุมกำเนิดส่งผลเชิงลบต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบวิธีธรรมชาติ (β = –0.436, p < 0.01) และด้านลักษณะข้อมูลการรับรู้การคุมกำเนิดส่งผลเชิงบวกต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบวิธีธรรมชาติ (β = 0.480, p < 0.05) โดยปัจจัยด้านลักษณะข้อมูลการรับรู้การคุมกำเนิดมีอิทธิพลต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบวิธีธรรมชาติมากที่สุด และพบว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมด้านลักษณะข้อมูลการรับรู้การคุมกำเนิดส่งผลเชิงบวกต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบมีสิ่งกีดขวางและใช้ฮอร์โมน (β = 0.292, p < 0.01) แต่ด้านช่องทางการรับรู้การคุมกำเนิดไม่ส่งผลต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบมีสิ่งกีดขวางและใช้ฮอร์โมน (β = 0.015, p > 0.05) โดยปัจจัยด้านลักษณะข้อมูลการรับรู้การคุมกำเนิดมีอิทธิพลต่อการรับรู้การคุมกำเนิดชั่วคราวแบบมีสิ่งกีดขวางและใช้ฮอร์โมนมากที่สุด
คำสำคัญ: การคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว การรับรู้วิธีการคุมกำเนิด นักศึกษาพยาบาล