การกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีเครื่องบดสับและทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ ในโรงพยาบาลสกลนคร
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้เทคโนโลยีเครื่องบดสับและทำลายเชื้อด้วยไอน้ำในโรงพยาบาลสกลนคร โดยการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติการกำจัดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาล และดำเนินการอบรมบุคลากรให้ทราบถึงการกำจัดขยะติดเชื้อแบบใหม่ เครื่องมือในการศึกษาประกอบด้วย 1) แบบสอบถามทีประยุกต์จากแบบประเมินการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ICC ROUND No.9 โรงพยาบาลสกลนคร 2) แบบบันทึกปริมาณขยะติดเชื้อจากทุกหน่วยงานในโรงพยาบาลรวมทั้งขยะติดเชื้อจากสถานบริการเครือข่ายในเขตอำเภอเมือง 29 แห่ง และปริมาณขยะตกค้าง 3) แบบบันทึกค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และรายจ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อ และ 4) แบบบันทึกผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลในเดือน มกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2464 วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ คำนวณต้นทุน และระยะเวลาคืนทุนของการกำจัดขยะติดเชื้อแบบใหม่
ผลการศึกษา คณะผู้วิจัยร่วมกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในโรงพยาบาล ได้ดำเนินการปรับปรุงแนวทางการกำจัดขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลฉบับใหม่ และอบรมบุคลากรจำนวน 78 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 83.87 บุคลากรรับทราบแนวปฏิบัติ คิดเป็นร้อยละ 100 คัดแยกขยะได้ถูกต้องร้อยละ 96.15 ต้นทุนการกำจัดขยะเท่ากับ 6.3 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับการนำขยะไปกำจัดโดยหน่วยงานเอกชนที่มีต้นทุนเท่ากับ 12 บาทต่อกิโลกรัม ในห้วงเวลาเดียวกันกับปี พ.ศ. 2563 พบว่า ลดค่าใช้จ่ายได้ 5.7 บาทต่อกิโลกรัม ระยะเวลาคืนทุนของระบบกำจัดขยะติดเชื้ออยู่ที่ 6 ปี 6 วัน ปริมาณขยะตกค้างลดลงร้อยละ 87.50 ทำให้โรงพยาบาลมีการกำจัดขยะที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริเวณที่พักขยะเป็นระเบียบและสะอาดมากขึ้น ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดหาถังพักขยะ
คำสำคัญ: ขยะติดเชื้อ การทำลายเชื้อด้วยไอน้ำต้นทุน ระยะเวลาคืนทุน เครื่องบดสับ