ความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ 3อ 2ส ในกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ของบุคลากรโรงพยาบาลปทุมธานี
บทคัดย่อ
การศึกษาภาคตัดขวางเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ 3อ 2ส ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับพฤติกรรมสุขภาพ 3อ 2ส และการมีส่วนร่วมกิจกรรมสุขภาพทางสังคม ในบุคลากรกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน โรงพยาบาลปทุมธานี จำนวน 56 ราย สุ่มตัวอย่างแบบง่ายโดยการจับฉลาก เก็บข้อมูลเดือน มกราคม–มีนาคม พ.ศ. 2565 เครื่องมือ คือ แบบสอบถามความรอบรู้ด้านสุขภาพตามหลัก 3อ 2ส ของคนไทยกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์ การทดสอบฟิชเชอร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยรวมเฉลี่ย 66.36 (S.D. 10.68) คิดเป็นร้อยละ 51.21 อยู่ในระดับไม่ดี คะแนนพฤติกรรมทางสุขภาพ 3อ 2ส เฉลี่ย 22.55 (S.D. 4.52) คิดเป็นร้อยละ 56.37อยู่ในระดับไม่ดี และคะแนนการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเฉลี่ย 7.59 (S.D. 4.30) คิดเป็นร้อยละ 37.95 อยู่ในระดับ ไม่ดี ปัจจัยเพศ ระดับการศึกษา และประเภทของบุคลากรมีความสัมพันธ์กับความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) โดยเพศหญิงมีระดับความรอบรู้ผ่านเกณฑ์มากกว่าเพศชาย การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีระดับความรอบรู้ผ่านเกณฑ์มากกว่าระดับต่ำกว่าปริญญาตรี กลุ่มข้าราชการมีระดับความรอบรู้ผ่านเกณฑ์มากกว่ากลุ่มพนักงานข้าราชการและกลุ่มลูกจ้าง และพบว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมสุขภาพและการเข้าร่วมกิจกรรมสุขภาพทางสังคม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.397, p < 0.05 และ r = 0.345, p < 0.05)
ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของบุคลากรกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ระดับความรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตามหลัก 3อ 2ส และลดอัตราการป่วยเป็นโรคเบาหวานในอนาคต
คำสำคัญ: ความรอบรู้ด้านสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ บุคลากรโรงพยาบาล กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน