ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย sepsis ที่รับไว้ในโรงพยาบาลสกลนคร
บทคัดย่อ
เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย sepsis ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลสกลนคร รวมถึง ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย ผลการรักษา อัตราการเสียชีวิต โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียน ปีงบประมาณ 2564 วิเคราะห์ข้อมูลเป็นจำนวน ร้อยละ เปรียบเทียบความแตกต่างของสัดส่วนด้วยสถิติ Chi–square หรือ Fisher exact test วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเสียชีวิตด้วยสถิติ Logistic regression
ผลการศึกษาพบผู้ป่วย sepsis ทั้งหมด 1,082 ราย เป็นการติดเชื้อจากชุมชนร้อยละ 96.9 มีโรคประจำตัว 811 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 33.9 เป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิตมากที่สุด ร้อยละ 49.4 รองลงมา เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 32.8 ตรวจพบเชื้อก่อโรคเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ร้อยละ 55.7 ผู้ป่วยมี Systemic Inflammatory Response Syndrome (SIRS) มากกว่าร้อยละ 50–70 มีภาวะช็อกตั้งแต่แรกรับร้อยละ 29.3 มีภาวะ Lactate > 18 มล./ดล. ร้อยละ 71.1 มีภาวะหายใจล้มเหลว ร้อยละ 53.8 ได้รับยาต้านจุลชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังวินิจฉัย ร้อยละ 70.4 ผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรค ร้อยละ 41.2 ได้รับสารน้ำใน 3 ชั่วโมงแรก 30 มล./กก. ร้อยละ 45.2 ได้รับยาพยุงความดัน ร้อยละ 46.5 อัตราเสียชีวิตโดยรวม ร้อยละ 37.5 ผล การวิเคราะห์ Multivariable logistic regression พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มอัตราการเสียชีวิต ได้แก่ อายุ มากกว่า 70 ปี 1.78 เท่า มีเชื้อขึ้นในสิ่งส่งตรวจอื่นนอกจากในเลือด 2.08 เท่า ได้รับยาต้านจุลชีพที่ไม่ครอบคลุมเชื้อ 1.77 เท่า การหายใจ > 20 ครั้งต่อนาที หรือ PCO2 < 32 มม.ปรอท 1.46 เท่า การติดเชื้อในทางเดินหายใจ 1.76 เท่า ARDS 11.48 เท่า Creatinine > 2 หรือ Urine output < 0.5 มล./กก./ชม. 2.15 เท่า ค่า INR > 1.5 1.87 เท่า มีภาวะช็อกแรกรับและหลังรับไว้รักษา 2.81 และ 6.5 เท่า ตามลำดับ
ภาวะ sepsis เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขและมีอัตราการเสียชีวิตสูง การเฝ้าระวังผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วย อวัยวะทำงานบกพร่อง สัญญาณชีพไม่ดี ติดเชื้อทางเดินหายใจ หายใจล้มเหลว ให้ได้รับสารน้ำที่เพียงพอและยาต้าน จุลชีพที่เหมาะสมเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
คำสำคัญ: ภาวะ sepsis การติดเชื้อในกระแสโลหิต ปัจจัยเสี่ยง การเสียชีวิต bacteremia