การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวาน อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวานรวมถึงการพัฒนารูปแบบ การดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวานและศึกษาประสิทธิผลของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวาน อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ผู้เข้าร่วมการวิจัยประกอบด้วย 1) เจ้าหน้าที่ในหน่วยบริการสุขภาพโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 15 คน 2) ผู้สูง อายุโรคเบาหวาน 342 คน และ 3) ผู้สูงอายุโรคเบาหวานและผู้ดูแลกลุ่มละ 25 คน ดำเนินการศึกษา 3 ระยะ คือ ระยะ ที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวาน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวานและระยะ ที่ 3 ศึกษาประสิทธิผลของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวาน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบวัด พฤติกรรมการดูแลตนเอง แบบวัดความรู้ในการดูแลตนเอง และแบบวัดความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ paired sample t–test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษาสถานการณ์การดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวานพบว่า โรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จัดทีมสหสาขา วิชาชีพออกไปตรวจรักษาที่ รพ.สต. ทุกเดือน ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนได้รับการดูแลต่อเนื่องในโรงพยาบาล พฤติกรรมการ ดูแลตนเองของผู้สูงอายุโรคเบาหวานพบว่า ยังปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม 3 ด้าน คือ การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ และความเครียด การควบคุมระดับน้ำตาลยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและมีภาวะแทรกซ้อนคือ โรคไตเรื้อรัง เท้าเป็นแผล และเบาหวานขึ้นตา รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโรคเบาหวานที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การประเมินผู้สูงอายุโรคเบาหวาน 2) นำครอบครัวหรือผู้ดูแลร่วมในกิจกรรม 3) ให้คำแนะนำผู้ป่วยตามปัญหาและ ความต้องการ 4) การใช้นวัตกรรมกราฟน้ำตาลที่ดูผ่านโทรศัพท์ได้และการติดตามก่อนวันนัดผ่าน Line notify และ โทรศัพท์ 5) การปรับแผนการรักษาโดยแพทย์ และ 6) การติดตามเยี่ยมบ้าน หลังการใช้รูปแบบฯ พบว่า ผู้สูงอายุ โรคเบาหวานมีความรู้ในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้สูงอายุโรคเบาหวานมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ในระดับมากที่สุดและ ผู้ดูแลมีความพึงพอใจในระดับมาก
คำสำคัญ: การพัฒนารูปแบบการดูแล ผู้สูงอายุโรคเบาหวาน