ผลของการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลเจริญศิลป์ กลุ่มตัวอย่าง คือ เจ้าหน้าที่งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลเจริญศิลป์ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ อาสาสมัครกู้ชีพ ฉุกเฉิน 54 คน พนักงานขับรถพยาบาล 8 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ และเวรเปล 13 คน พยาบาลวิชาชีพและนักเวชกิจฉุกเฉิน 26 คน รวม จำนวน 101 คน ดำเนินงานพัฒนาตามกระบวนการทฤษฏีวงจรคุณภาพ (Deming Cycle: PDCA) ระหว่าง เดือนมกราคม–เมษายน พ.ศ.2566 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วน เบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Paired sample t–test ข้อมูลเชิงคุณภาพสรุปรวบรวมตามกระบวนการ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
ผลการวิจัย ในขั้นตอนการวางแผนมีการระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ได้แผนพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน พัฒนาหน่วยปฏิบัติการ และพัฒนาแนวทางการออกปฏิบัติการ นำสู่การปฏิบัติตามแผน ในขั้นการ ตรวจสอบมีการติดตาม กำกับ อย่างต่อเนื่อง ปรับกระบวนการทำงาน ได้แก่ 1) เพิ่มพนักงานขับรถพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง 2) จัดเวรพยาบาล EMS ขึ้นปฏิบัติงานทุกวันแยกจากงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 3) จัดประชุมทบทวนเมื่อพบ อุบัติการณ์ ทุกเดือน 4) ปรับปรุงห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน 5) จัดทำแนวทางการให้บริการ 6) ติดตั้งระบบ GPS กล้องติดตาม และบันทึกความเร็วของรถ EMS 7) จัดอบรมการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลและซ้อมแผนรับอุบัติเหตุหมู่และสาธารณภัย และผลการพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ของเจ้าหน้าที่งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน พบว่า ทุกกลุ่ม มีระดับความรู้ และระดับทัศนคติอยู่ในระดับดี ซึ่งก่อนและหลังพัฒนาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p–value < 0.001) ยกเว้น ทัศนคติของอาสากู้ชีพฉุกเฉินไม่แตกต่างกัน ระดับทักษะอยู่ในระดับดี ก่อนและหลังพัฒนาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ (p–value < 0.05) ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤตหรือเร่งด่วนได้รับการช่วยเหลือและนำส่งด้วยระบบบริการ การแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมมากขึ้น
คำสำคัญ: การพัฒนางานตาม PDCA ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การแพทย์ฉุกเฉิน