การเพิ่มขึ้นของรายรับโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

Authors

  • โชติ ภาวศุทธิกุล
  • ชนิญญา พัฒนศักดิ์ภิญโญ

Abstract

                  รายรับของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เป็นรายรับที่จัดเก็บได้จากกิจกรรมการให้บริการผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยมาจากรายรับจากกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้ป่วย โดยรายรับจากกิจกรรมการให้บริการผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจาก 3 กองทุนหลักของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ  คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ  โดยแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน  ตั้งแต่แนวคิด แหล่งที่มาของเงิน และวิธีการจ่ายเงิน  ทำให้โรงพยาบาลของรัฐต้องมีการบริหารจัดการในการจัดเก็บรายได้แบบแยกส่วนตามความแตกต่างของวิธีการจ่ายเงิน  ซึ่งต้องปฏิบัติตามกระบวนการ ขั้นตอน และกฎกติกา ในการจัดทำข้อมูลขอเบิกจ่ายของแต่ละกองทุน ทำให้เกิดภาระงานที่ยุ่งยากซับซ้อนและตรวจสอบได้ยาก ในปีงบประมาณ 2562 โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 34 แห่งโรงพยาบาลทั่วไป 83 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 723 แห่ง ซึ่งดูแลสุขภาพประชาชนประมาณร้อยละ 70 ของประชาชนทั้งประเทศ ผลการดำเนินงานด้านการเงินการคลังของทุกโรงพยาบาลจะถูกประเมินประสิทธิภาพโดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ  พบว่าโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.3 ไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพทางการเงินการคลัง และมีโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน จากการวัดความเสี่ยงตามเกณฑ์เฝ้าระวังทางการเงินของหน่วยบริการ ด้วยดัชนีทางการเงินระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามหลักเกณฑ์การคิดวิกฤตทางการเงิน 7 ระดับ (Risk Scoring) มีจำนวนถึง 119 แห่ง สาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งคือเรื่องรายรับที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้และไม่สอดคล้องกับการให้บริการผู้ป่วย จึงทำให้โรงพยาบาลประสบภาวะวิกฤตทางการเงินการคลัง แม้ว่าก่อนหน้านี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดสรรระบบเหมาจ่ายรายหัว และให้ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแล้วก็ตาม

                    โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ (A) จำนวนเตียงตามกรอบ 700 เตียง แต่มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยจริง 659 เตียง มีบุคลากรรวม 2,561 คน เป็นแพทย์ 213 คน ทันตแพทย์ 20 คน และพยาบาลวิชาชีพ 674 คน ในปี 2562 รับผิดชอบประชากรเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์  245,034   คน และมีโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายที่รับผิดชอบจำนวน 15 แห่ง รวมจำนวนประชากรจังหวัดนครสวรรค์ทั้งหมด 1,059,887คน และเป็นโรงพยาบาลศูนย์เพียงแห่งเดียว ของเขตสุขภาพที่ 3 รองรับการให้บริการประชากรในเขต 2,977,294 คน ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และชัยนาท ในปี 2562 โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์มีผู้รับบริการเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) เฉลี่ยวันละ 2,104 คนโดยมี Active bed ที่ 723 เตียง มีอัตราครองเตียงร้อยละ 109.7 จำนวนวันนอนเฉลี่ย 4.9 วัน อัตราตายร้อยละ 5.14 และมีผลการดำเนินงาน Case Mix Index (CMI) เท่ากับ 2.02

                    ข้อมูลสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2562 มีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิคงเหลือ ( Net Working Capital : NWC) 1,108 ล้านบาท  และมีเงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สิน 819 ล้านบาท โดยมีเงินบำรุงคงเหลือมากเป็นอันดับ 3 ของโรงพยาบาลศูนย์ในประเทศ รองจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา (1,609 ล้านบาท) และโรงพยาบาลลำปาง (1,029 ล้านบาท) แม้ว่าโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ( A ) และยังมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ไม่สามารถขยายบริการในระดับตติยภูมิได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่มีผลการดำเนินงานที่ทำให้มีเงินบำรุงคงเหลือมากเป็นอันดับ 3 ของโรงพยาบาลศูนย์ในประเทศ จากข้อมูลในปีงบประมาณ 2554-2558 มีรายรับเพิ่มขึ้นจาก 1,514 ล้านบาท เป็น 1,809 ล้านบาท คิดเป็นรายรับที่เพิ่มขึ้น 295 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาในปีงบประมาณ 2558-2562 มีรายรับเพิ่มขึ้นจาก 1,809 ล้านบาท เป็น 2,400 ล้านบาท คิดเป็นรายรับที่เพิ่มขึ้นถึง 591 ล้านบาทซึ่งเป็น 2 เท่าของรายรับที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงสนใจวิเคราะห์หาปัจจัยและเงื่อนไข ที่ทำให้รายรับของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  โดยคาดว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาครั้งนี้คือ ได้ข้อเสนอแนะให้กับโรงพยาบาลในการเพิ่มรายรับ การจัดการรายรับที่มีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการเพิ่มรายรับที่เชื่อมโยงกับทุกหน่วยบริการ เพื่อเพิ่มความเสถียรภาพทางการเงินการคลังให้กับโรงพยาบาลต่อไป

Downloads

Published

2020-12-29

How to Cite

ภาวศุทธิกุล โชติ, and พัฒนศักดิ์ภิญโญ ชนิญญา. 2020. “การเพิ่มขึ้นของรายรับโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์”. Region 3 Medical and Public Health Journal - วารสารวิชาการแพทย์และสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 17 (3). Nakhonsawan Thailand:94. https://thaidj.org/index.php/smj/article/view/9629.

Issue

Section

บทความฟื้นวิชาการ (Review Article)