ผลลัพธ์ของการปรับลดระดับความเข้มข้นสารฟอร์มาลีนเพื่อรักษาศพ

ผู้แต่ง

  • ณัฐพงษ์ ตุลาพันธุ์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

คำสำคัญ:

การรักษาศพ, ฟอร์มาลีน , การเปลี่ยนแปลงภายหลังตาย

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์     :   เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการปรับลดระดับความเข้มข้นสารฟอร์มาลินในการรักษาศพ จากสูตรเดิมเข้มข้นร้อยละ 100 เป็นสูตรใหม่เข้มข้นร้อยละ 75 ในด้านความพึงพอใจ และข้อร้องเรียนของญาติผู้เสียชีวิต และความแตกต่างของรายจ่ายค่าต้นทุนในการผลิตน้ำยา และรายรับเมื่อปรับลดระดับความเข้มข้นสูตรน้ำยา   

วิธีการศึกษา     :   ทำการศึกษาแบบ retrospective cohort ในผู้เสียชีวิตที่ได้รับการฉีดยารักษาศพด้วยสารละลายฟอร์มาลินเข้มข้นร้อยละ 75 ระหว่าง 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 จำนวน 2,462 ศพ รวบรวมข้อมูลทั่วไปของผู้เสียชีวิต ได้แก่ เพศ  อายุ สาเหตุของการเสียชีวิต จังหวัดที่นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา ระยะเวลาเก็บศพเพื่อประกอบพิธี ความพึงพอใจของญาติต่อการบริการรักษาศพที่ได้รับ จำนวนการร้องเรียนเรื่องผลการรักษาศพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การเปรียบเทียบความแตกต่างของรายจ่ายค่าต้นทุนผลิตน้ำยาฟอร์มาลินระหว่างการใช้สูตรใหม่กับสูตรเดิม และรายรับเมื่อปรับลดระดับความเข้มข้นสูตรน้ำยาลง ใช้การเทียบบัญญัติไตรยางศ์

ผลการศึกษา     :   ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย ร้อยละ 52.7 อายุเฉลี่ย 63.6 ปี ± 16.3 ปี สาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดคือ การอักเสบรุนแรงของอวัยวะสำคัญ ร้อยละ 25.1 จังหวัดที่นำไปประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย โดยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์มากที่สุด ร้อยละ 85.0 ระยะเวลาที่เก็บศพไว้เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเป็นเวลา 3 วันมากที่สุด ร้อยละ 98.1 ญาติผู้เสียชีวิตทุกรายมีความพึงพอใจต่อการบริการรักษาศพที่ได้รับ ในเรื่องการคงสภาพศพไม่ให้เน่า และสีผิวของศพซึ่งไม่มีการเปลี่ยนเป็นสีเข้มคล้ำ ในช่วงเวลาที่ศึกษาไม่มีการร้องเรียนในเรื่องผลการรักษาศพ  ความแตกต่างของรายจ่ายเป็นค่าต้นทุนในการผลิตสารละลายฟอร์มาลินสูตรใหม่ เมื่อเทียบกับสารละลายฟอร์มาลินสูตรเดิม ในการรักษาศพผู้เสียชีวิต 2,462 ศพคิดเป็นเงินที่ลดลง 93,556 บาท และเมื่อเทียบรายรับที่โรงพยาบาลเก็บค่าบริการรักษาศพกับราคาต้นทุนการผลิตสารละลายฟอร์มาลินสูตรใหม่ เป็นรายรับที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นเงิน 88,632 บาท

สรุป              :   การปรับลดความเข้มข้นสารละลายฟอร์มาลินเป็นสูตรใหม่เข้มข้นร้อยละ 75 (ฟอร์มาดีไฮด์ร้อยละ 27 ในน้ำ) เพื่อใช้ในการรักษาศพ ไม่ได้ลดทอนประสิทธิผลในการรักษาศพ อีกทั้งยังมีผลดีในเรื่องไม่ทำให้สีผิวของศพเข้มคล้ำ และลดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างชัดเจน จึงสามารถใช้สารละลายฟอร์มาลีนสูตรใหม่ในการดำเนินงานต่อไปได้

คำสำคัญ         :   การรักษาศพ ฟอร์มาลีน การเปลี่ยนแปลงภายหลังตาย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-05-05

วิธีการอ้างอิง

ตุลาพันธุ์ ณัฐพงษ์. 2022. “ผลลัพธ์ของการปรับลดระดับความเข้มข้นสารฟอร์มาลีนเพื่อรักษาศพ”. Region 3 Medical and Public Health Journal - วารสารวิชาการแพทย์และสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 19 (2). Nakhonsawan Thailand:124. https://thaidj.org/index.php/smj/article/view/11787.

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ (Original Article)