ผลการสำรวจคุณภาพด้านเชื้อจุลินทรีย์ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และการแสดงฉลากของน้ำบริโภค ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • ชาลี ภูมิฐาน กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ

คำสำคัญ:

บริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท , การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ , ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำดื่ม, คุณภาพน้ำ, ฉลากน้ำดื่ม

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อสำรวจคุณภาพด้านเชื้อจุลินทรีย์  สำรวจคุณภาพเกี่ยวกับค่าความเป็นกรด-ด่าง และสำรวจการแสดงฉลากของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

 วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงสำรวจภาคตัดขวาง (cross sectional survey) โดยสำรวจคุณภาพด้านเชื้อจุลินทรีย์ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และการแสดงฉลากของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จำนวน  10  ยี่ห้อ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ ขนาด 600 มิลลิลิตร ยี่ห้อละ 3 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 30 ตัวอย่าง จากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ สยามแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี และโรบินสัน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เครื่องมือที่ใช้ คือ  1)ชุดตรวจโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำและน้ำแข็ง 2)เครื่องวัดค่า ความเป็นกรด – ด่าง ของน้ำแบบดิจิตอล และ3)แบบสำรวจการแสดงฉลากของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ สถิติที่ใช้ คือ สถิติเชิงพรรณนา เช่น ร้อยละ และค่าเฉลี่ย

 ผลการศึกษา: พบว่าคุณภาพด้านเชื้อจุลินทรีย์และค่าความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐานคุณภาพด้านเชื้อจุลินทรีย์และค่าความเป็นกรด-ด่างทุกตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าความเป็นกรด-ด่าง เฉลี่ย 7.3  ค่าต่ำสุด 6.8 และค่าสูงสุด 8.5 ส่วนการตรวจสอบการแสดงฉลากของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ทั้งหมด 10 ยี่ห้อ พบว่าแต่ละยี่ห้อได้จัดทำฉลากที่แตกต่างกัน และทุกยี่ห้อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดขั้นต่ำที่ทางหน่วยงานรัฐได้กำหนดไว้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน คิดเป็นร้อยละ 100 แต่พบว่ามีบางยี่ห้อได้เพิ่มเติมข้อความบนฉลากที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็นและเข้าใจว่ายี่ห้อของตนมีคุณสมบัติที่เด่นกว่ายี่ห้ออื่น เช่น “ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก…” เป็นต้น ดังนั้นการแสดงฉลากของน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ทั้งหมด 10 ยี่ห้อ จึงเป็นไปตามข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 (พ.ศ.2557) เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ฉบับที่ 383 (พ.ศ. 2560) เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ (ฉบับที่ 2)

สรุป: น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มี 2 กลุ่ม คือ ยี่ห้อที่เป็นที่นิยม และยี่ห้อที่เป็นสินค้าของห้างสรรพสินค้า โดยทั้ง 2 กลุ่ม มีคุณภาพด้านเชื้อจุลินทรีย์และค่าความเป็นกรด-ด่าง ผ่านมาตรฐาน และมีการแสดงฉลากถูกต้อง ครบถ้วนตามข้อกำหนด                

เอกสารอ้างอิง

วรรณา ยงพิศาลภพ. แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม. [ออนไลน์]. จาก https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Food-Beverage/Beverage/IO/io-beverage-20-th [อ้างเมื่อเมื่อ 25 มีนาคม 2564].

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งทั่วประเทศ.[ออนไลน์]. จาก http://www.dmsc.moph.go.th/dmscnew_old/news_detail.php?cid=1&id=1078 [อ้างเมื่อ 25 มีนาคม 2564].

ชาลี ภูมิฐาน และกรแก้ว จันทภาษา. (2564). ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทของผู้ผลิตในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ. วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ, 16(1):56-62.

ธีระ ปานทิพย์อำพร. (2559). การพัฒนาชุดทดสอบโคลิฟอร์มเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำทางจุลชีววิทยา. วารสารผลงานวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 5(5):79-88.

กองอาหาร สำนักงานอาหารและยา. กฎหมายกระทรวงสาธารณสุข. [ออนไลน์]. จากhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P367.PDF [อ้างเมื่อ 25 มีนาคม 2564].

กองอาหาร สำนักงานอาหารและยา. กฎหมายกระทรวงสาธารณสุข. [ออนไลน์]. จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/097/24.PDF [อ้างเมื่อ 25 มีนาคม 2564].

กองอาหาร สำนักงานอาหารและยา. กฎหมายกระทรวงสาธารณสุข. [ออนไลน์]. จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/157/52.PD [อ้างเมื่อ 25 มีนาคม 2564]

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-07-19 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-13

เวอร์ชัน