การตรวจสอบการตกตะกอนโดยใช้ Software ร่วมกับกราฟประยุกต์ เปรียบเทียบกับใช้กราฟมาตรฐาน ในสารอาหารให้ทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยทารกแรกเกิด โรงพยาบาลชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • อำนาจ สุขอุดม กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลชัยภูมิ
  • พัฒนพงษ์ ภักติยานุวรรตน์ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลชัยภูมิ

คำสำคัญ:

แคลเซียมฟอสเฟต , การตรวจสอบการตกตะกอน , สารอาหารให้ทางหลอดเลือดดำ

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการตรวจสอบการตกตะกอนของแคลเซียมฟอสเฟต ในสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ (TPN) ระหว่างวิธีการใช้กราฟมาตรฐาน และวิธีการใช้ Software ร่วมกับกราฟประยุกต์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยทารกแรกเกิด หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลชัยภูมิ ที่ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ ระหว่าง กรกฎาคม - กันยายน 2562 จำนวน 112 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบบันทึกข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลคุณลักษณะทั่วไป ข้อมูลสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ และข้อมูลการตรวจสอบการตกตะกอน ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยศึกษาจากใบสั่ง TPN นำมาอ่านผลการตกตะกอนพร้อมทั้งตรวจสอบความยากในการอ่านผลโดยใช้กราฟมาตรฐาน จากนั้นอ่านผลการตกตะกอนและตรวจสอบความยากในการอ่านผลซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย Software ร่วมกับกราฟประยุกต์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน interquartile range ค่าต่ำสุดและค่าสูงสุด และสถิติอนุมาน ได้แก่  McNemar Chi-square ผลการวิจัยมีดังต่อไปนี้

การตรวจสอบการตกตะกอนด้วยกราฟมาตรฐาน พบการตกตะกอนร้อยละ 4.5 และเมื่อนำมาตรวจสอบซ้ำด้วย Software ร่วมกับกราฟประยุกต์ พบผลการตรวจสอบเป็นเช่นเดียวกัน (p = 1.000) ส่วนความยากในการอ่านผลการตกตะกอน จะพบว่าการตรวจสอบด้วยกราฟมาตรฐานมีความยากในการอ่านผลร้อยละ 7.1 ในขณะที่ความยากในการอ่านผลเมื่ออ่านด้วย Software ร่วมกับกราฟประยุกต์ จะลดความยากในการอ่านผลลงเหลือเพียงร้อยละ 0.9 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .016) 

จากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรงพยาบาลชัยภูมิควรใช้ Software ร่วมกับกราฟประยุกต์ ตรวจสอบการตกตะกอนของแคลเซียมฟอสเฟตใน TPN เพราะนอกจากจะอ่านผลได้ง่ายกว่าการด้วยตรวจสอบด้วยกราฟมาตรฐานแล้ว ยังสะดวกรวดเร็วกว่า เนื่องจากไม่ต้องเขียนกราฟด้วยตนเอง และยังสามารถลดข้อผิดพลาดจากการคำนวณ เนื่องจากใช้ Software คำนวณนั่นเอง โดย Software ที่ใช้คือ Microsoft Excel ซึ่งสามารถนำไปเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนา หรือนำไปปรับใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชัยภูมิได้

เอกสารอ้างอิง

เพ็ญศักดิ์ จันทราวุธ, และรัตติรส คนการณ์. (2558). การตั้งตำรับและการเตรียมยาไร้เชื้อ. เชียงใหม่: ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Canada T, Crill C, Guenter P. [Eds.]. (2009). aspen Parenteral Nutrition Handbook.

Chaieb DS, Chaumeil JC, Jebnoun S, Khrouf N, Hedhili A, Sfar S. Effect of the Intravenous Lipid Emulsions on the Availability of Calcium when using Organic Phosphate in TPN Admixtures. Pharmaceutical Research, 25(11):2545.

Allwood MC, Kearney MC. Compatibility and stability of additives in parenteral nutrition admixtures. Nutrition (Burbank, Los Angeles County, Calif.), 14(9):697-706.

Pertkiewicz M, Cosslett A, Mühlebach S, Dudrickd SJ. (2009). Basics in clinical nutrition: Stability of parenteral nutrition admixtures. European e-Journal of Clinical Nutrition and Metabolism, 4(3): e117-e119.

Wang Z, Peng Y, Cai X, Cao Y, Yang G, Huang P. (2019). Impact of total parenteral nutrition standardization led by pharmacist on quality in postoperative patients with colorectal cancer. European Journal of Clinical Nutrition, 73(2):243-9.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-08-20 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-18

เวอร์ชัน