การพยาบาลมารดาวัยรุ่นตกเลือดหลังคลอดที่ได้รับการตัดมดลูก : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • นิธินันท์ ถาวรชาติ ห้องผ่าตัด โรงพยาบาลชัยภูมิ

คำสำคัญ:

การพยาบาลมารดาวัยรุ่น, ตกเลือดหลังคลอด, ตัดมดลูก

บทคัดย่อ

การตั้งครรภ์วัยรุ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของวัยรุ่น ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิต ผลต่อการศึกษาเล่าเรียน และผลต่อจิตใจ วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพ สูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่อายุเป็นผู้ใหญ่กว่า โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ร่างกายอยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการตั้งครรภ์การเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายจะหยุดชะงักลง ส่งผลให้ร่างกายขาดสมดุล มดลูกขยายตัวไม่เต็มที่ ทำให้พื้นที่จำกัด กระดูกเชิงกรานพัฒนาไม่เต็มที่ ช่องทางผ่านสำหรับทารกจะแคบกว่าปกติ ระยะตั้งครรภ์จะมีปัญหาการไปฝากครรภ์ล่าช้า หรือไม่ได้ฝากครรภ์ มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ระยะคลอดพบปัญหาเจ็บครรภ์คลอดเนิ่นนาน ไม่มีความก้าวหน้าทางการคลอด การคลอดยากหรือคลอดไม่ได้ ต้องใช้สูติศาสตร์หัตถการช่วยคลอด ต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน ระยะหลังคลอดเกิดภาวะมดลูกล้า การหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี เกิดการตกเลือดหลังคลอด และนำไปสู่การตัดมดลูกในที่สุด

ผู้ศึกษาเห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้ศึกษาการพยาบาลมารดาวัยรุ่นตกเลือดหลังคลอดที่ได้รับการตัดมดลูก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉินในระยะก่อนผ่าตัด ระยะผ่าตัด และระยะหลังผ่าตัด รวมทั้งศึกษาการดำเนินโรค อุบัติการณ์ สาเหตุ อาการและอาการแสดง แนวทางการรักษา การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ ผู้รับบริการได้รับการพยาบาลแบบองค์รวม

ผลการศึกษา: พบว่ากรณีศึกษามีการผิดสัดส่วนระหว่างหัวเด็กกับช่องเชิงกราน เกิดระยะที่ 1 ของการคลอดยาวนาน และตรวจพบขี้เทาในน้ำคร่ำมีสีเขียว ข้น เหนียว ขุ่น ปริมาณมากในระยะเจ็บครรภ์คลอด ได้รับการผ่าตัดคลอดแบบฉุกเฉิน เกิดปัญหามดลูกล้า มดลูกไม่หดรัดตัวทำให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดจนต้องได้รับการตัดมดลูก เพื่อป้องกันภาวะ Hypovolemic Shock ซึ่งมีแนวโน้มอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต กรณีศึกษามีความปลอดภัยจากการผ่าตัด ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เองและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ พร้อมทั้งได้กลับบ้านทั้งมารดาและทารกในที่สุด

เอกสารอ้างอิง

เพิ่มศักดิ์ สุเมฆศรี. การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น. ใน. พิมล วงศ์ศิริเดช, เพิ่มศักดิ์ สุเมฆศรี, พจนีย์ ผดุงเกียรติวัฒนา, ณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์, [บรรณาธิการ]. (2556). เวชศาสตร์ปริกำเนิดทันยุค. กรุงเทพฯ: ยูเนี่ยน ครีเอชั่น.

วรพงศ์ ภู่พงศ์. การตั้งครรภ์ในสตรีวัยรุ่น. ใน: สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน, เยื้อน ตันนิรันดร, [บรรณาธิการ]. (2558). เวชปฏิบัติทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เยื้อน ตันนิรันดร. การตรวจพบขี้เทาในน้ำคร่ำในระยะเจ็บครรภ์คลอด ใน: สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน, เยื้อน ตันนิรันดร, [บรรณาธิการ]. (2558). เวชปฏิบัติทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โฉมพิลาศ จงสมชัย. (2557). ภาวะตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage, PPH). ใน: การประชุมวิชาการ ประจำปี 2557 เรื่อง การจัดการทางการผดุงครรภ์ร่วมสมัย วันที่ 18-19 ธันวาคม 2557 ณ ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น. ขอนแก่น : สาขาวิชาการผดุงครรภ์ขั้นสูง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์. ภาวะตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลัน. ใน: วิทยา ฐิถาพันธ์, นิศารัตน์ พิทักษ์วัชระ, พจนีย์ ผดุงเกียรติวัฒนา, [บรรณาธิการ]. (2555). เวชศาสตร์ปริกำเนิด Crises in Perinatal Practice. กรุงเทพฯ: ยูเนี่ยน ครีเอชั่น.

สุสัณหา ยิ้มแย้ม. การพยาบาลสตรีที่มีภาวะแทรกซ้อนในระยะหลังคลอด. ใน: นันทพร แสนศิริพันธ์, ฉวี เบาทรวง, [บรรณาธิการ]. (2555). การพยาบาลผดุงครรภ์เล่ม 3. เชียงใหม่: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน. รายงานสถิติอัตราการคลอดในวัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปีต่อจำนวนประชากรหญิงในกลุ่มอายุเดียวกัน. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก: http://doc.anamai.moph.go.th/index. [วันที่ค้นข้อมูล 11 กันยายน 2562]

ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ. (2562). รายงานสถิติมารดาวัยรุ่นโรงพยาบาลชัยภูมิ. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://bps.moph.go.th/new/HDC.pdf. [วันที่ค้นข้อมูล 11 กันยายน 2562]

โรงพยาบาลชัยภูมิ. (2563). สถิติมารดาตกเลือดหลังคลอด. ชัยภูมิ : หอผู้ป่วยหลังคลอด โรงพยาบาลชัยภูมิ.

ชวนพิศ วงศ์สามัญ, กล้าเผชิญ โชคบำรุง. (2558). การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 21. ขอนแก่น: ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สมพร ชินโนรส. (2559). การพยาบาลทางศัลยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: รำไทยเพรส; 2559.

ฐิติมา จำนงเลิศ, วรารัตน์ บุญณสะ, วราลักษณ์ บุญชัย, นุชนาถ ฤทธิสนธิ์, นุสรา พานสัมฤทธิ์ และณัทฐา โพธิโยธิน. (2555). อุบัติการณ์และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะอุณหภูมิกายต่ำขณะผ่าตัด. วารสารสมาคมผ่าตัดแห่งประเทศไทย, 5(2):19-30.

นภัตสร กุมาร์. (2557). คู่มือการใช้ยา. สมุทรปราการ: ณัฏฐ์อักษรพับลิชชิ่ง.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-02-09 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-17

เวอร์ชัน