This is an outdated version published on 2019-07-30. Read the most recent version.

ผลการส่งเสริมการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ : Effects of a Nursing Practice Promotion to Prevent Ventilator-associated Pneumonia

Authors

  • Kittirat Sawasrak
  • Laphitsara Sawhatdirak
  • Pornnipa Leelathanalerk
  • Narintorn Pansang
  • Sunsanee Chaiyabutra

Abstract

บทคัดย่อ              

การติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยหนัก พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจได้ การวิจัยกึ่งทดลองนี้ศึกษาผลการส่งเสริมการปฏิบัติการพยาบาลในการป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจต่อการปฏิบัติของพยาบาลและอุบัติการณ์การติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ในหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตอายุรกรรม โรงพยาบาลชัยภูมิ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 – เดือนเมษายน 2559 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นบุคลากรทางการพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตอายุรกรรม โรงพยาบาลชัยภูมิ เลือกแบบเจาะจง จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกการสังเกตการปฏิบัติ และแบบเฝ้าระวังการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ การส่งเสริมการปฏิบัติ ประกอบด้วย การอบรมความรู้ การติดโปสเตอร์เตือน การสนับสนุนคู่มือ การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และการให้ข้อมูลย้อนกลับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติไควสแควร์ และค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์

ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการส่งเสริมการปฏิบัติ บุคลากรทางการพยาบาลมีการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจถูกต้องเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 75 ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และอุบัติการณ์ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงจาก 12.26 ครั้งต่อ 1,000 วัน ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็น 2.68 ครั้งต่อ 1,000 วัน ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ (ความแตกต่างของความเสี่ยง = 6.11; 95% CI: 2.12-17.65)

ผลการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมการปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญต่อการป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงควรส่งเสริมปฏิบัติการพยาบาลที่ถูกต้องในหอผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลและผู้รับบริการมีความปลอดภัย

Published

2019-07-30

Versions

Issue

Section

Original Article