ผลกระทบของระบบการเงินการคลังด้านยาภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยต่อผลการดำเนินการของระบบยา
คำสำคัญ:
ระบบการเงินการคลัง, ระบบยา, การเงินการคลังด้านยา, ชุดสิทธิประโยชน์ด้านยาบทคัดย่อ
ระบบยาเป็นระบบซึ่งส่งกระทบโดยตรงต่อระบบสุขภาพ ระบบยาที่มีผลการดำเนินการที่ดีมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินการของระบบยาขึ้นอยู่กับว่าได้มีการจัดการการใช้ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยนำเข้าของระบบได้ดีอย่างไร ระบบการเงินการคลังที่เข้มแข็งมีความจำเป็นสำหรับการจัดการทรัพยากรที่เป็นตัวเงินของระบบยา การทบทวน และวิเคราะห์ผลของระบบการเงินการคลังในปัจจุบันว่าได้มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนผลการดำเนินการของระบบยาหรือไม่อย่างไร จะเป็นประโยชน์ในฐานะข้อมูลป้อนกลับ ที่จะชี้ให้มีการดำเนินการด้านการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผลดำเนินการของระบบยา งานทบทวนวรรณกรรมชิ้นนี้ วิเคราะห์ผลของระบบการเงินการคลังที่มีต่อผลการดำเนินการของระบบยาผ่านตัวชี้วัดผลการดำเนินการของระบบยาจำนวน 6 ตัวชี้วัด การทบทวนวรรณกรรมพบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านยาอย่างต่อเนื่องซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาเทคโนโลยีสูงราคาแพง ประชาชนสามารถเข้าถึงยาในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ดี เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ด้านยาของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐหลักๆ ทั้ง 3 ระบบ ระบบประกันสุขภาพที่มีกลไกการจ่ายค่ายาแบบปลายปิด มีประสิทธิภาพสูงกว่าในระบบที่มีการจ่ายค่ายาแบบปลายเปิด หรือจ่ายเป็นรายรายการ อย่างไรก็ตาม มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาโดยเฉพาะยาที่มีราคาแพงระหว่างผู้มีสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพภาครัฐหลักๆ การใช้ยาที่มาก หรือน้อยเกินไป เนื่องจากความแตกต่างของวิธีการจ่ายค่ายาระหว่างระบบประกันสุขภาพ สะท้อนปัญหาการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ระบบการเงินการคลังปัจจุบันส่งเสริมให้เกิดการตลาดยาที่มีการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ตำ่อย่างเข้มข้นซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบของอุตสาหกรรมยาภายในประเทศของไทย ประกอบกับแนวโน้มที่มีมูลค่าการนำเข้ายาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่าประเทศไทยมีบริโภคยาที่พึ่งพาการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงทางยาของประเทศในอนาคต การทบทวนวรรณกรรมชิ้นนี้ได้เสนอ 4 ข้อเสนอแนะสำคัญด้านการเงินการคลัง เพื่อพัฒนาผลการดำเนินการของระบบยา: ระบบการเงินการคลังที่ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลดี แต่ราคาแพง ระบบการเงินการคลังที่เพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เพิ่มการลงทุนในการวิจัยพัฒนายาใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาของผู้มีสิทธิ์ระหว่างระบบประกันสุขภาพที่มีวิธีการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านยา และวิธีการเบิกจ่ายค่ายาแตกต่างกัน
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2020 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.