การพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง โรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • ศรินทิพย์ บุตราช
  • สุทธิพร วรบรรณากร โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

         การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและประเมินผลการพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง โรงพยาบาลสกลนคร ประยุกต์ใช้กระบวนการวิจัยของไอโอวาโมเดล แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1) การพัฒนาแนวทางปฏิบัติฯ 2) การนำแนวทางปฏิบัติไปทดลองใช้ และ 3) การประเมินผลการใช้แนวปฏิบัติ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ 12 คน หัวหน้าหอผู้ป่วย 4 คนผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่าง แบบสอบถามความเป็นไปได้ของการใช้แนวทางปฏิบัติ แบบสอบถามความพึงพอใจในการใช้แนวปฏิบัติและแบบรายงานอุบัติการณ์ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย คือ คู่มือการใช้แนวทางปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยง เบนมาตรฐาน และ t–test

         ผลการวิจัยพบว่า ได้แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงฯ พัฒนาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ 21 ฉบับ ประกอบด้วย 5 หมวด ได้แก่ 1) ความหมายของภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง 2) การวัดความดันในกะโหลกศีรษะ 3) การลดความดันในกะโหลกศีรษะ 4) การพยาบาลและการจัดการภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง และ 5) การติดตามและประเมินผลภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง พยาบาลมีความพึงพอใจแนวทางปฏิบัติระดับมาก สามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ร้อยละ 93.3 หลังนำแนวปฏิบัติไปใช้ พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงลดลงจากก่อนการพัฒนา ร้อยละ 22.73 เป็นร้อยละ 13.34 การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้บาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรงในครั้งนี้ ได้แนวปฏิบัติที่บุคลากรพยาบาลสามารถนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและช่วยลดอัตราการเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง

       คำสำคัญ: แนวทางปฏิบัติ ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง บาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-15 — อัปเดตเมื่อ 2021-10-15